พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ขันธสูตร ว่าด้วยสัทธานุสารี และธัมมานุสารีบุคคล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ก.ย. 2564
หมายเลข  37021
อ่าน  601

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 526

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยสัทธานุสารี และธัมมานุสารีบุคคล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 526

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยสัทธานุสารี และธัมมานุสารีบุคคล

[๔๗๘] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวซึ่งธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่าสัทธานุสารี ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ก้าวลงสู่สัปปุริสภูมิ ล่วงภูมิปุถุชน ไม่ควรเพื่อทำกรรมที่บุคคลทำแล้วพึงเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน หรือปิตติวิสัย ไม่ควรเพื่อทำกาละตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ย่อมควรเพ่งด้วยปัญญาโดยประมาณอย่างนี้แก่ผู้ใด เรากล่าวผู้นี้ว่าธัมมานุสารี ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ก้าวลงสู่สัปปุริสภูมิ ล่วงภูมิปุถุชน ไม่ควรเพื่อทำกรรมที่บุคคลทำแล้วพึงเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 527

หรือปิตติวิสัย ไม่ควรเพื่อทำกาละ ตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดรู้เห็นธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

จบ ขันธสูตร

จบ โอกกันตสังยุต

อรรถกถาโอกกันตสังยุต

อรรถกถาจักขุสุตตาทิสูตรที่ ๑ - ๑๐

พึงทราบวินิจฉัยในโอกกันตสังยุตดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อธิมุจฺจติ ได้แก่ ย่อมได้ สัทธาธิโมกข์ (๑)

บทว่า โอกฺกนฺโต สมฺมตฺตนิยามํ ได้แก่ เข้าไปสู่อริยมรรค.

ด้วยบทว่า อภพฺโพว ตาว กาลํ กาตุํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความไม่เป็นอันตราย (เครื่องกีดขวาง) ต่อผลในเมื่อมรรคเกิดขึ้นแล้ว. เพราะว่าเมื่อมรรคเกิดขึ้นแล้ว ขึ้นชื่อว่าการทำอันตราย (เครื่องกีดขวาง) แก่ผลจะไม่มี ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็บุคคลนี้พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และเวลาที่กัปจะถูกไฟไหม้ก็คงมี (แต่ว่า) กัปนี้จะไม่พึงถูกไฟไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล บุคคลนี้จึงถูกเรียกว่าผู้ดำรงอยู่ชั่วกัป.


(๑) อรรถกถาว่า สทฺธาวิโมกขํ ฉบับพม่าเป็น สทฺธาธิโมกขํ แปลตามต้นฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 528

บทว่า มตฺตโส นิชฺฌานํ ขมนฺติ ความว่า ควรซึ่งการตรวจตราดูโดยประมาณ.

บทที่เหลือในที่ทุกแห่ง มีความหมายง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาโอกกันตสังยุต

รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้คือ

๑. จักขุสูตร ๒. รูปสูตร ๓. วิญญาณสูตร ๔. ผัสสสูตร ๕. เวทนาสูตร ๖. สัญญาสูตร ๗. เจตนาสูตร ๘. ตัณหาสูตร ๙. ธาตุสูตร ๑๐. ขันธสูตร.