พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒๑-๔๐. ทานูปการสูตรที่ ๒-๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ก.ย. 2564
หมายเลข  37064
อ่าน  396

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 564

๒๑ - ๔๐. ทานูปการสูตรที่ ๒ - ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 564

๒๑ - ๔๐. ทานูปการสูตรที่ ๒ - ๔

[๕๓๐] กรุงสาวัตถี. ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคที่เป็นชลาพุชะ ... ของพวกนาคที่เป็นสังเสทชะ ... ของพวกนาคที่เป็นอุปปาติกะ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กระทำกรรมทั้งสองด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เขาได้สดับมาว่า พวกนาคที่เป็นอุปปาติกะมีอายุยืน มีวรรณะงาม มีความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคที่เป็นอุปปาติกะ เขาจึงให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และ อุปกรณ์แห่งประทีป เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคที่เป็นอุปปาติกะ ดูก่อนภิกษุ ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไป เข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคที่เป็นอุปปาติกะ.

จบ ทานูปการสูตรที่ ๒๑ - ๕๐

(พร้อมไปยาลนี้ ขยายได้ ๑๐ สูตร ทำเป็นไวยากรณะได้ ๔๐ ไวยากรณะ ในกำเนิดทั้ง ๔ (แต่ละกำเนิดได้ถวายทานวัตถุ ๑๐ อย่าง แต่ละอย่างๆ) ๑๐ สูตรกับไวยากรณะ ๔๐ จึงรวมเป็น ๕๐ สูตร)

จบ นาคสังยุต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 565

อรรถกถาสูตรที่ ๒ เป็นต้น

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๒ เป็นต้น ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โวสฺสฏฺกายา คือ ปล่อยกายโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่เกิดจากหมองู.

บทว่า ทฺวยการิโน แปลว่า ผู้มีปกติทำทั้งสองอย่าง อธิบายว่า มีปกติทำทั้งกุศลและอกุศล.

บทว่า สจชฺช มยํ ความว่า ถ้าว่า วันนี้เราทั้งหลาย.

บทว่า สหพฺยตํ อุปปชฺชติ ความว่า ถึงความเป็นผู้ (อยู่) ร่วมกัน (สหภาพ). อกุศลเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นเกิดขึ้นในกำเนิดนาคนั้น (ส่วน) กุศลเป็นปัจจัยให้นาคทั้งหลายที่เกิดมาแล้วสมบูรณ์.

บทว่า อนฺนํ ได้แก่ ของเคี้ยวของกิน.

บทว่า ปานํ ได้แก่ น้ำดื่มทุกชนิด.

บทว่า วตฺถํ ได้แก่ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม.

บทว่า ยานํ ได้แก่ ปัจจัยที่ช่วยในการเดินทางทุกชนิด เริ่มตั้งแต่ร่ม และรองเท้า.

บทว่า มาลํ ได้แก่ ดอกไม้ทุกชนิด เช่น ดอกมะลิเป็นต้น.

บทว่า คนฺธํ ได้แก่ เครื่องลูบไล้ทุกชนิด เช่นแก่นจันทน์ เป็นต้น.

บทว่า เสยฺยาวสถปทีเปยฺยํ ความว่า ให้ที่นอนมีเตียงและตั่ง เป็นต้น ให้ที่อยู่อาศัยมีเรือนชั้นเดียวเป็นต้น (และ) ให้อุปกรณ์ประทีปมีไส้และน้ำมันเป็นต้น. (๑)


(๑) ปาฐะว่า ... .ปทีปการณํ ฉบับพม่าเป็น ... .ปทีปูปรณํ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 566

ก็การที่นาคเหล่านั้นทำความปรารถนาเพื่อให้มีอายุยืน มีผิวพรรณสวยงาม และมากไปด้วยสุขเอาไว้ แล้วให้ทานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ จึงบังเกิดในภพนาคนั้น ก็เพื่อเสวยสมบัตินั้นแล.

บทที่เหลือในทุกสูตร ก็มีความหมายง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถานาคสังยุต

รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ

๑. สุทธกสูตร ๒. ปฌีตตรสูตร ๓. อุโปสถสูตรที่ ๑ ๔. อุโปสถสูตรที่ ๒ ๕. อุโปสถสูตรที่ ๓ ๖. อุโปสถสูตรที่ ๔ ๗. สุตสูตรที่ ๑ ๘. สุตสูตรที่ ๒ ๙. สุตสูตรที่ ๓ ๑๐. สุตสูตรที่ ๔ ๑๑ - ๒๐. ทานูปการสูตรที่ ๑ ๒๑ - ๔๐. ทานูปการสูตรที่ ๒ - ๔ (รวม ๕๐ สูตร)