พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37138
อ่าน  606

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 33

๖. อาทิตตปริยายสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 33

๖. อาทิตตปริยายสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ริมฝั่งแม่น้ำคยา พร้อมกับภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนคืออะไร. คือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 34

ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แหละเมื่อพระองค์ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ต่างมีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นดังนี้แล.

จบ อาทิตตปริยายสูตรที่ ๖

อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖

ในอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า คยาสีเส ความว่า จริงอยู่สระโบกขรณีแห่งหนึ่งชื่อ คยา ก็มี แม่น้ำชื่อว่า คยาสีสะ ก็มี ศิลาดาดเช่นกับหม้อน้ำ ก็มี ในที่ไม่ไกลหมู่บ้านคยา. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ที่ภิกษุพันรูปอยู่กันพอ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คยาสีเส ดังนี้. บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลือกพระธรรมเทศนาที่เป็นสัปปายะแก่ภิกษุเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เราจักแสดงอาทิตตปริยายสูตรนั้น.

ในข้อนั้นมีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 35

เล่ากันมาว่า จากภัททกัปนี้ไป ๙๒ กัป ได้มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า มหินทะ ท้าวเธอมีพระเชฏฐโอรสพระนามว่า ปุสสะ. ปุสสะเชฏฐโอรสนั้นเปี่ยมด้วยบารมี เป็นสัตว์เกิดในภพสุดท้าย เมื่อญาณแก่กล้า เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ. พระกนิฏฐโอรสเป็นอัครสาวกของพระองค์ บุตรปุโรหิตเป็นทุติยสาวก. พระราชามีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก. พระองค์ให้สร้างวิหารด้วยพระดำริว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของพวกเราทั้งนั้น ทรงล้อมสองข้างทางด้วยไม้ไผ่ จากพระทวารตำหนักของพระองค์จนถึงซุ้มประตูวิหาร เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงิน แล้วโปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามมรรคานั้น.

พระศาสดาประทับยืนในพระวิหารนั่นแล ทรงห่มจีวร เสด็จมายังพระราชมณเฑียร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ภายในม่านทีเดียว เสร็จภัตกิจแล้ว เสด็จกลับภายในม่านนั่นเอง. ไม่มีใครได้ถวายภัตตาหารสักทัพพี. ลำดับนั้น ชาวพระนครพากันโพนทะนาว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก แต่พวกเราไม่ได้ทำบุญกันเลย ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนทั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องแสงสว่างแก่คนทั้งปวง แต่พระราชาพระองค์นี้แย่งบุญของคนทั้งหมด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 36

ก็พระราชานั้น มีพระโอรสอื่นๆ ๓ พระองค์. ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสเหล่านั้นว่า ขึ้นชื่อว่าภายในกับราชตระกูลไม่มี พวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง. ชาวพระนครเหล่านั้นได้แต่งโจรชายแดนขึ้น ส่งข่าวสาส์นกราบทูลพระราชาว่า หมู่บ้าน ๒ - ๓ ตำบลถูกปล้น. พระราชารับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ มา รับสั่งว่า ลูกๆ ทั้งหลาย พ่อแก่แล้ว พวกเจ้าจงไปปราบโจร แล้วส่งไป. พวกโจรที่แต่งขึ้น กระจายกันไปทางโน้นทางนี้แล้วมายังสำนักของพระโอรสเหล่านั้น พระโอรสเหล่านั้น ให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยพักอยู่ กล่าวว่า โจรสงบแล้ว ได้พากันมายืนถวายบังคมพระราชา.

พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่า ลูกๆ พ่อจะให้พรแก่พวกเจ้า. พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครว่า พระราชาพระราชทานพรแก่พวกเรา พวกเราจะเอาอะไร. ชาวพระนคร กล่าวว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ช้างม้าเป็นต้น พวกเราได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล ขอท่านทั้งหลายจงรับพร คือการปฏิบัติพระปุสสพุทธเจ้า ผู้เป็นเชฏฐภาดาของท่านทั้งหลาย. พระโอรสเหล่านั้นรับคำชาวพระนครว่า จักกระทำอย่างนั้น จึงโกนพระมัสสุ สนานพระองค์ ตกแต่งพระองค์ ไปเฝ้าพระราชา กราบทูลขอว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรแก่พวกข้าพระองค์เถิด. พระราชาตรัสถามว่า จักเอาอะไรเล่าลูก. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พวกข้าพระองค์ไม่ต้องการช้างเป็นต้น ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานพรคือการปฏิบัติพระปุสสพุทธเจ้า ผู้เป็นเชฏฐภาดาของพวกข้าพระองค์เถิด. พระราชา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 37

กระซิบที่หูทั้งสองว่า เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่สามารถจะให้พรนี้ได้. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พวกข้าพระองค์มิได้บังคับให้พระองค์พระราชทานพร พระองค์มีความยินดีพระราชทานตามความพอพระทัยของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ ควรหรือที่ราชตระกูลจะมีคำพูดเป็นสอง ดังนี้ ได้ถือเอาด้วยความเป็นผู้กล่าววาจาสัตย์.

พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้ จึงตรัสว่า ลูกๆ พ่อจักให้พวกเจ้า หลังจากพ่อได้บำรุงตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์โปรดประทานสิ่งที่ดีไว้เป็นประกัน. มีรับสั่งถามว่า ประกันใครเล่าลูก. พระโอรสกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดประทานสิ่งที่ไม่ตาย ไว้เป็นประกันตลอดกาลเท่านี้. ตรัสว่า ลูกๆ พวกเจ้าให้ประกันที่ไม่สมควร เราไม่อาจให้ประกันอย่างนี้ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เช่นกับหยาดน้ำค้างที่ปลายหญ้า. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าพระองค์ไม่ประทานประกัน พวกข้าพระองค์ตายเสียในระหว่าง จักกระทำกุศลได้อย่างไร. พระราชาตรัสว่า ลูกๆ ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงให้ตลอด ๖ ปี. ไม่สามารถพระเจ้าข้า. ถ้าเช่นนั้น จงให้ ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว. ไม่สามารถพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น จงให้เพียง ๗ วัน. พระโอรสรับพระดำรัส ๗ วัน. พระราชาได้ทรงกระทำ สักการะที่ควรจะทำตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ใน ๗ วันเท่านั้น.

ต่อแต่นั้น พระราชามีรับสั่งให้ตกแต่งมรรคากว้าง ๘ อุสภะ เพื่อส่งพระศาสดาไปยังที่อยู่ของพระโอรสทั้งหลาย. ตรงกลาง ทรงใช้ช้างย่ำที่ ประมาณ ๔ อุสภะ ทำเหมือนวงกสิณ เกลี่ยทรายแล้วโปรยดอกไม้. ในที่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 38

นั้นๆ ตั้งต้นกล้วยและหม้อน้ำมีน้ำเต็ม ให้ยกธงชายธงประฏาก. ทุกๆ อุสภะ ให้ขุดสระโบกขรณีไว้. กาลต่อมา ให้ปลูกร้านของหอมมาลัยและดอกไม้ไว้สองข้างทาง. ตรงกลางสองข้างทางของมรรคา ซึ่งตกแต่งแล้ว กว้าง ๔ อุสภะ ให้นำตอและหนามออก แล้วติดโคมไฟไว้ตามทาง ซึ่งกว้างชั่วสองอุสภะ. แม้พระราชโอรส ก็ให้ตกแต่งทาง ๑๖ อุสภะ ในที่ที่ตนมีอำนาจอย่างนั้นเหมือนกัน. พระราชาเสด็จไปเขตคันนาของสถานที่พระองค์มีอำนาจ ถวายบังคมพระศาสดาพลางรำพันตรัสว่า ลูกๆ พวกเจ้าเหมือนควักตาขวาของเราไป แต่พวกเจ้ารับอย่างนี้ไปแล้ว พึงกระทำให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่าเที่ยวประมาทเหมือนนักเลงสุรา. พระราชโอรสเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักทราบ พระเจ้าข้า แล้วพาพระศาสดาไป ให้สร้างวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น ตั้งอยู่ในอาสนะของภิกษุผู้เถระโดยกาล ในอาสนะของภิกษุเป็นมัชฌิมโดยกาล ในอาสนะของภิกษุผู้เป็นสังฆนวกะ ทานของชนทั้ง ๓ สำรวจทานแล้ว ก็เป็นทานอันเดียวกันนั่นแล. พระราชโอรสเหล่านั้น เมื่อจวนเข้าพรรษา จึงคิดกันว่า พวกเราจะถือเอาอัธยาศัยของพระศาสดาอย่างไรหนอ.

ลำดับนั้น พระราชโอรสเหล่านั้นได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส. พวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักอาจยึดอัธยาศัยของพระศาสดาได้ พวกเขาให้เรียกพวกมนุษย์ผู้จำแนกทานมา กล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงจัดข้าวยาคูภัตรและของเคี้ยวเป็นต้น ถวายทานโดยทำนองนี้แหละ แล้วตัดกังวลในการจำแนกทาน.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 39

ลำดับนั้น บรรดาราชกุมารเหล่านั้น เชฏฐภาดาพาบุรุษ ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่. ราชโอรสองค์กลางเป็นคฤหัสถ์ ราชโอรสองค์สุดท้องปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น พร้อมกับบุรุษ ๒๐๐ คน. เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต. พระศาสดาเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง.

ราชโอรสแม้เหล่านั้นทิวงคตแล้ว ตั้งแต่นั้นไป ๙๒ กัป ท่องเที่ยวไปจากมนุษยโลกสู่เทวโลก จากเทวโลกสู่มนุษยโลก ในสมัยพระศาสดาของพวกเรา จุติจากเทวโลกบังเกิดในมนุษยโลก. มหาอำมาตย์เป็นโฆสกในโรงทานของเขาเหล่านั้น บังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งชนชาวอังคะและมคธ. ชนเหล่านั้นบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในแคว้นของพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง. เชฏฐภาดาเกิดเป็นคนพี่ ราชโอรสองค์กลางและองค์สุดท้องเกิดเป็นคนกลางและคนสุดท้องนั่นเอง ฝ่ายมนุษย์ผู้เป็นบริวารของราชโอรสเหล่านั้นเกิดเป็นมนุษย์บริวารนั่นเอง. ชนทั้ง ๓ นั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว พาบุรุษ ๑,๐๐๐ คน ออกบวชเป็นดาบส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแขวงอุรุเวลาประเทศ. ชาวอังคะและมคธนำสักการะเป็นอันมาก ถวายแก่ดาบสเหล่านั้นทุกๆ เดือน.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ บรรลุสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ แล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงแนะนำกุลบุตร มียสะเป็นต้น ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 40

ไปในทิศทั้งหลาย เพื่อแสดงธรรม ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง แล้วเสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศ ด้วยตั้งพระทัยว่า จักทรมานชฏิล ๓ พี่น้องชายเหล่านั้น ทรงทำลายทิฏฐิของชฎิลเหล่านั้น ด้วยปาฏิหาริย์หลายร้อย แล้วให้เขาเหล่านั้นบรรพชา พระองค์ทรงพาสมณะ ๑,๐๐๐ ผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ไปยังคยาสีสประเทศ อันสมณะเหล่านั้นแวดล้อม แล้วประทับนั่ง พลางทรงพระดำริว่า ธรรมกถาอะไรหนอ จักเป็นที่สบายแก่ชนเหล่านี้ จึงตกลงพระทัยว่า ชนเหล่านี้บำเรอไฟทั้งเวลาเย็นและค่ำ เราจักแสดงอายตนะ ๑๒ แก่พวกเขา ทำให้เป็นดุจไฟไหม้ลุกโซน ชนเหล่านี้จักสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัส อาทิตตปริยายสูตร นี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น โดยปาฏิหาริย์หลายร้อย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลือกพระธรรมเทศนาอันเป็นสัปปายะของชน (ชฎิล) เหล่านั้น จึงตรัสเรียก ด้วยหมายจะทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทิตฺตํ แปลว่า อันไฟติดแล้ว ลุกโชนแล้ว คำที่เหลือ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ตรัสทุกขลักษณะไว้ในพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖