พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อันธภูตสูตร ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งมืดมน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37139
อ่าน  362

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคเล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 41

๗. อันธภูตสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งมืดมน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 41

๗. อันธภูตสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งมืดมน

[๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งมืดมน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่เป็นสิ่งมืดมนคืออะไร. คือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เป็นสิ่งมืดมน แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นสิ่งมืดมน มืดมนเพราะอะไร. เรากล่าวว่า มืดมนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นสิ่งมืดมน แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นสิ่งมืดมน มืดมนเพราะอะไร. เรากล่าวว่า มืดมนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโน-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 42

สัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แหละเมื่อพระองค์ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเหล่านั้น ต่างมีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล.

จบ อันธภูตสูตรที่ ๗

อรรถกถาอันธภูตสูตรที่ ๗

ในอันธภูตสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อนฺธภูตํ ความว่า ครอบงำ ท่วมทับ อธิบายว่า ขัดขวางแล้ว. ในพระสูตรแม้นี้ ตรัสเฉพาะทุกขลักขณะเท่านั้น.

จบ อรรถกถาอันธภูตสูตรที่ ๗