พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สารุปปสูตร ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติอันสมควรแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37140
อ่าน  453

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 42

๘. สารุปปสูตร

ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติอันสมควรแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 42

๘. สารุปปสูตร

ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติอันสมควรแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง

[๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันสมควรแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันสมควรแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 43

และทิฏฐิเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุ ย่อมไม่สำคัญในจักษุ ย่อมไม่สำคัญแต่จักษุ ย่อมไม่สำคัญว่าจักษุของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งรูป ในรูป แต่รูปว่า รูปของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุวิญญาณ ในจักษุวิญญาณ แต่จักษุวิญญาณว่า จักษุวิญญาณของเรา ย่อมไม่สำคัญจักษุสัมผัส ในจักษุสัมผัส แต่จักษุสัมผัสว่า จักษุสัมผัสของเรา ย่อมไม่สำคัญสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้นว่า เวทนานั้นเป็นของเรา ฯลฯ ย่อมไม่สำคัญซึ่งใจ ในใจ แต่ใจว่า ใจของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งธรรมารมณ์ ในธรรมารมณ์ แต่ธรรมารมณ์ว่า ธรรมารมณ์ของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนวิญญาณ ในมโนวิญญาณ แต่มโนวิญญาณว่า มโนวิญญาณของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนสัมผัส ในมโนสัมผัส แต่มโนสัมผัสว่า มโนสัมผัสของเรา ย่อมไม่สำคัญในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้นว่า เวทนานั้นเป็นของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งสิ่งทั้งปวง ในสิ่งทั้งปวง แต่สิ่งทั้งปวงว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของเรา บุคคลผู้ไม่สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับสนิทได้เฉพาะตนทีเดียว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล คือข้อปฏิบัติที่ควรแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ.

จบ สารุปปสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 44

อรรถกถาสารุปปสูตรที่ ๘

ในสารุปปสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สพฺพมญฺิตสมุคฺฆาตสารุปฺปํ ความว่า สมควรแก่ข้อปฏิบัติอันจะเพิกถอนความสำคัญด้วยตัณหา มานะและทิฏฐิทั้งหมด บทว่า อิธ ได้แก่ ในพระศาสนานี้. บทว่า จกฺขุํ น มญฺติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญจักษุว่าเรา ว่าของเรา หรือว่าผู้อื่น ของผู้อื่น บทว่า จกฺขุสฺมิํ น มญฺติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญว่าเรามีความกังวลในจักษุ คือมีความกังวลด้วยกิเลสเครื่องกังวลในจักษุของเรา มีความกังวลด้วยกิเลสเครื่องกังวลในจักษุของผู้อื่น. บทว่า จกฺขุโต น มญฺติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญแม้อย่างนี้ว่า เราปราศจากจักษุ คือความกังวลด้วยกิเลสเครื่องกังวลว่า เราปราศจากจักษุ หรือว่าปราศจากจักษุของผู้อื่น คือความกังวลด้วยกิเลสเครื่องกังวลว่า ปราศจากจักษุของผู้อื่น อธิบายว่า ไม่ทำความสำคัญ ด้วยตัณหา มานะและทิฏฐิ แม้อย่างหนึ่ง ให้เกิดขึ้น. บทว่า จกฺขุํ เมติ น มญฺติ ความว่า ไม่สำคัญว่า จักษุของเรา อธิบายว่า ไม่ทำความสำคัญด้วยตัณหาอันเป็นอัตตาของเรา ให้เกิดขึ้น. คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น ดังนี้แล. ในพระสูตรนี้ ตรัสวิปัสสนาให้บรรลุพระอรหัตในฐานะ ๑๔๔.

จบ อรรถกถาสารุปปสูตรที่ ๘