พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ชาติอาทิธรรมสูตร ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นต้นเป็นธรรมดา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37143
อ่าน  588
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 50

ชาติธรรมวรรคที่ ๔

๑. ชาติอาทิธรรมสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นต้นเป็นธรรมดา

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่มีความเกิดเป็นธรรมดาคืออะไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส มีความเกิดเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มีความเกิดเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 51

[๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความแก่เป็นธรรมดา.

[๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา.

[๓๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา.

[๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา.

[๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา.

[๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา.

[๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา.

[๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีเหตุให้เกิดเป็นธรรมดา.

[๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่มีความดับไปเป็นธรรมดา คืออะไรเล่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 52

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ ชาติธรรมวรรคที่ ๔

อรรถกถาชาติธรรมวรรคที่ ๔

อรรถกถาชาติอาทิธรรมสูตรเป็นต้น

ในชาติธรรมวรรคที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ชาติธมฺมํ ความว่า มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความบังเกิดเป็นธรรมดา มีความบังเกิดเป็นสภาวะ. บทว่า ชราธมฺมํ ได้แก่ มีความแก่เป็นสภาวะ. บทว่า พฺยาธิธมฺมํ ได้แก่ มีพยาธิเป็นสภาวะ โดยความเป็นปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นแห่งพยาธิ. บทว่า มรณธมฺมํ ได้แก่ มีความตายเป็นสภาวะ. บทว่า โสกธมฺมํ ได้แก่ มีความโศกเป็นสภาวะ โดยความเป็นปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นแห่งความโศก. บทว่า สํกิเลสิกธมฺมํ ได้แก่ มีความเศร้าหมองเป็นสภาวะ. บทว่า ขยธมฺมํ ได้แก่ มีความถึงความสิ้นไปเป็นสภาวะ แม้ในสภาวะมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเป็นต้น ก็นัยนี้ เหมือนกันแล.

จบ อรรถกถาชาติธรรมวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 53

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ชาติธรรมสูตร

๒. ชราธรรมสูตร

๓. พยาธิธรรมสูตร

๔. มรณธรรมสูตร

๕. โสกธรรมสูตร

๖. สังกิเลสธรรมสูตร

๗. ขยธรรมสูตร

๘. วยธรรมสูตร

๙. สมุทยธรรมสูตร

๑๐. นิโรธธรรมสูตร