พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมคิลานสูตร ว่าด้วยทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุผู้อาพาธ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37167
อ่าน  493

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 86

คิลานวรรคที่ ๓

๑. ปฐมคิลานสูตร

ว่าด้วยทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุผู้อาพาธ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 86

คิลานวรรคที่ ๓

๑. ปฐมคิลานสูตร

ว่าด้วยทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุผู้อาพาธ

[๘๘] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารโน้น มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏนามและโคตร เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงอาศัยความเอ็นดูเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด พระเจ้าข้า. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำว่า ภิกษุใหม่ และว่าเป็นไข้ ทรงทราบชัดว่าเป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร เสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลยภิกษุ เธออย่าปูอาสนะไว้ที่เตียงเลย อาสนะที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า เธอพอทนได้หรือ เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดน้อยลง ไม่กำเริบหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แก่กล้ายิ่งนัก ไม่ลดน้อยไปเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 87

พ. ดูก่อนภิกษุ เธอไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความร้อนใจไรๆ หรือ.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความรังเกียจ มีความร้อนใจไม่น้อยเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ติเตียนตนเองโดยศีลบ้างหรือ.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีล เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรังเกียจ มีความร้อนใจเพราะเรื่องอะไรเล่า.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ถ้าว่าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วเพื่อคลายจากราคะ พระเจ้าข้า.

พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่แสดงแล้วเพื่อคลายจากราคะ ดูก่อนภิกษุ เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีความคลายจากราคะเป็นประโยชน์.

[๘๙] พ. ดูก่อนภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 88

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.

จบ ปฐมคิลานสูตรที่ ๑