พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปุณณสูตร ว่าด้วยความเพลิดเพลินทําให้เกิดทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.ย. 2564
หมายเลข  37181
อ่าน  553

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 117

๕. ปุณณสูตร

ว่าด้วยความเพลิดเพลินทําให้เกิดทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 117

๕. ปุณณสูตร

ว่าด้วยความเพลิดเพลินทำให้เกิดทุกข์

[๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี สรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี สรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลิดเพลิน ก็เกิดขึ้น ดูก่อนปุณณะ เพราะความเพลิดเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ ดูก่อนปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี สรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี สรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็บังเกิดขึ้น ดูก่อนปุณณะ เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์.

[๑๑๓] ดูก่อนปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้น ไม่ยินดี ไม่สรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลิดเพลินก็ดับไป ดูก่อนปุณณะ เพราะความเพลิดเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 118

ดูก่อนปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่สรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่สรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์ เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่สรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป ดูก่อนปุณณะ เพราะความเพลิดเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูก่อนปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้.

[๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เบาใจในธรรมนี้ เพราะข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และความสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ.

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนี้ จักษุเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๑ นี้ เป็นอันเธอละขาดแล้ว เพื่อไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ

เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 119

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนั้น ใจจักเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๖ นี้ จักเป็นอันเธอละขาดแล้ว เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้วด้วยโอวาทย่อนี้ จักอยู่ในชนบทไหน.

ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ชนบทชื่อสุนาปรันตะมีอยู่ ข้าพระองค์จักอยู่ในชนทบนั้น.

ว่าด้วยมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทเป็นผู้ดุร้ายเป็นประจำ

[๑๑๕] พ. ดูก่อนปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้าย หยาบคายนัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยมือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้.

พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วยมือเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 120

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารข้าพระองค์ด้วยมือไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทเจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้.

พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วยก้อนดินเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดินไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้.

พ. ดูก่อนปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วยท่อนไม้เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์ จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 121

พ. ดูก่อนปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วยศาตรา ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารข้าพระองค์ด้วยศาตราไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ปลงเราเสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้.

[๑๑๖] พ. ดูก่อนปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลงเธอเสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลงข้าพระองค์เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์ จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วยกายและชีวิต ย่อมแสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลงชีวิตที่เราแสวงหาอยู่นั้น เราได้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้.

พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะเช่นนี้ จักอาจอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้ บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 122

[๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะให้ชาวสุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้ง และปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนด้วยพระโอวาทอย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็นบัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ ปรินิพพานแล้ว.

จบ ปุณณสูตรที่ ๕

อรรถกถาปุณณสูตรที่ ๕

ในปุณณสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ตญฺเจ ได้แก่ จักขุปสาทรูป และรูป. บทว่า นนฺทิสมุทยา ทุกฺขสมุทโย ความว่า เพราะประชุมแห่งตัณหา ความประชุมแห่งทุกขขันธ์ ๕ ย่อมมี. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยังวัฏฏะให้ถึงที่สุดแล้ว จึงทรงแสดงโดยสัจจะ ๒ ด้วยคำว่า นนฺทิสมุทยา ทุกฺขสมุทโย ดังนี้ ในทวารทั้ง ๖.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 123

ในนัยที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้วิวัฏฏะถึงที่สุด จึงทรงแสดงโดยสัจจะ ๒ คือ นิโรธ มรรค. บทว่า อิมินา ตฺวํ ปุณฺณ เป็นอนุสนธิแผนกหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใส่เทศนาลงในพระอรหัตโดยวัฏฏะ และวิวัฏฏะ อย่างนี้ก่อนแล้ว บัดนี้เพื่อจะให้พระปุณณเถระ บันลือสีหนาท ในฐานะ ๗ จึงตรัสคำอาทิว่า อิมินา ตฺวํ.

บทว่า จณฺฑา ได้แก่ ดุร้าย คือกล้าแข็ง. บทว่า ผรุสา ได้แก่ หยาบ. บทว่า อกฺโกสิสฺสนฺติ ความว่า จักด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐. บทว่า ปริภาสนฺติ ความว่า ย่อมขู่ว่า ท่านชื่อว่าเป็นสมณะอย่างไร เราจักทำสิ่งนี้ และสิ่งนี้แก่ท่าน. บทว่า เอวเมตฺถ ความว่า จักมีแก่เราในที่นี้ ด้วยอาการอย่างนี้. บทว่า ทณฺเฑน ได้แก่ ด้วยท่อนไม้ยาว ๔ ศอก หรือด้วยค้อนไม้ตะเคียน. บทว่า สตฺเถน ได้แก่ ด้วยศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น.

บทว่า สตฺถหารกํ ปริเยสนฺติ ความว่า ย่อมแสวงหาศัสตรา เครื่องนำไปเสียซึ่งชีวิต. คำนี้พระเถระกล่าวหมายเอาการแสวงหาศัสตราฆ่าตัวตายของพวกภิกษุผู้ฟังอสุภกถา เพราะเรื่องตติยปาราชิก แล้วเกลียดด้วยอัตภาพ. บทว่า ทม ในคำว่า ทมูปสมเนน นี้ นั้นเป็นชื่อของอินทรียสังวรเป็นต้น. จริงอยู่ในบาลีว่า สจฺเจน ทนฺโต ทมสา อุเปโต เวทนฺตคู วุสิตพฺรหฺมจริโย ภิกษุเป็นผู้มีสัจจะฝึกตนเข้าถึงทมะ ถึงที่สุดเวท อยู่จบพรหมจรรย์นี้ อินทรียสังวร ท่านกล่าวว่า ทมะ ในบาลีว่า ยทิ สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตฺยาภิยฺโยว วิชฺชติ แปลว่า ถ้าสัจจะ ทมะ จาคะ ขันติ ย่อมมียิ่งขึ้นไซร้นี้ ปัญญาท่านกล่าวว่า ทมะ. ในบาลีว่า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 124

ทาเนน ทเมน สญฺเมน สจฺจวาเจน แปลว่า ด้วยการให้ การฝึก การสำรวม และด้วยสัจจวาจา นี้ อุโปสถกรรม ท่านกล่าวว่า ทมะ. แต่ในสูตรนี้ ขันติ พึงทราบว่า ทมะ. บทว่า อุปสโม เป็นไวพจน์ ของคำว่า ทโม นั้นนั่นเอง.

บทว่า อถโข อายสฺมา ปุณฺโณ ความว่า ก็ท่านปุณณะนี้เป็นใคร และเพราะเหตุไรท่านจึงประสงค์จะไปในที่นั้น. แก้ว่า ท่านเป็นผู้อยู่ในสุนาปรันตชนบทนั่นเอง. แต่ท่านได้กำหนดที่อยู่อันไม่เป็นสัปปายะในกรุงสาวัตถี จึงประสงค์จะไปในที่นั่น.

ในข้อนั้น จะกล่าวตามลำดับความดังต่อไปนี้.

เล่ากันมาว่า ในแคว้นสุนาปรันตะ ในหมู่บ้านพ่อค้าแห่งหนึ่ง ชนทั้ง ๒ นั้น เป็นพี่น้องกัน ใน ๒ คนนั้น บางคราวพี่ชายพาเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปสู่ชนบทนำสินค้ามา. บางคราวก็น้องชาย ก็ในสมัยนี้ พักน้องชายไว้ในเรือน พี่ชายพาเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวจาริกไปในชนบทถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ พักเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไว้ในที่ไม่ไกลพระเชตวัน รับประทานอาหารเช้าแล้ว แวดล้อมไปด้วยชนบริษัทนั่งในที่มีความผาสุก.

สมัยนั้น ชาวกรุงสาวัตถีบริโภคอาหารเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ ห่มผ้าเฉวียงบ่าอันหมดจด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น น้อมโน้มเงื้อมไปในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ออกทางประตูด้านทักษิณไปยังพระเชตวัน. เขาเห็นชนเหล่านั้น จึงถามมนุษย์คนหนึ่งว่าคนพวกนี้จะไปไหน. คนนั้นกล่าวว่า นายท่านไม่รู้หรือว่า ชื่อพระรัตนะ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 125

คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก มหาชนนั้นพากันไปสำนักพระศาสดา เพื่อจะฟังธรรมกถาด้วยประการฉะนี้. คำว่า พุทฺโธ ได้เฉือนผิวหนังตั้งจดเยื่อกระดูกของเขา. เขามีบริษัทของตนแวดล้อม ไปวิหารพร้อมด้วยบริษัทนั้น เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท ก็เกิดจิตคิดจะ บรรพชา.

ลำดับนั้น เมื่อพระตถาคตทรงทราบเวลาแล้วส่งบริษัทไป เขาจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม นิมนต์เพื่อเสวยอาหารในวันรุ่งขึ้น ให้สร้างมณฑปในวันที่ ๒ ให้ปูอาสนะ ถวายมหาทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน บริโภคอาหารเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ ให้เรียกผู้รักษาเรือนคลังมาสั่งว่า ทรัพย์มีประมาณเท่านี้เราสละแล้ว ทรัพย์มีประมาณเท่านี้ เราไม่พึงสละ จึงบอกเรื่องทั้งหมด กล่าวว่า ท่านจงให้สมบัตินี้ แก่น้องชายของเราดังนี้ มอบทรัพย์ทั้งหมดให้ แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา บำเพ็ญกรรมฐานเป็นเบื้องหน้า.

ลำดับนั้น เมื่อท่านมนสิการพระกรรมฐานอยู่ กรรมฐานไม่ปรากฏ. แต่นั้น ท่านคิดว่า ชนบทนี้ ไม่เป็นที่สบายสำหรับเรา ถ้ากระไร เราพึงเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา จะพึงไปในสถานที่ของตน นั่นแล. ครั้นเวลาเช้า ท่านก็เที่ยวไปบิณฑบาต ตอนเย็นออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ตรัสบอกพระกรรมฐาน บันลือสีหนาท ๗ ครั้ง แล้วก็หลีกไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข อายสฺมา ปุณฺโณ ฯลฯ วิหรติ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 126

ถามว่า ก็พระปุณณะนี้ อยู่ที่ไหน. ตอบว่า อยู่ในสถานที่ ๔ แห่ง. อันดับแรก ท่านเข้าไปยังแคว้นสุนาปรันตะ ถึงภูเขาชื่อว่า อัพพุหัตถะ แล้วเข้าไปบิณฑบาตยังวานิชคาม.

ลำดับนั้น น้องชายจำท่านได้ จึงถวายภิกษากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่าไปในที่อื่น จงอยู่แต่ในที่นี้เท่านั้น ให้ท่านรับคำแล้ว ให้อยู่ในที่นั้นนั่นเอง.

แต่นั้น ท่านก็ได้ไปวิหารชื่อสมุทคิรี ในที่นั้น มีที่จงกรมซึ่งสร้างกำหนดด้วยแผ่นหินตัดเหล็ก ไม่มีใครที่สามารถจะจงกรมที่จงกรมนั้นได้ในที่นั้น คลื่นในสมุทรมากระทบที่แผ่นหินตัดเหล็กกระทำเสียงดัง พระเถระคิดว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มนสิการพระกรรมฐานอยู่ ขอจงมีความผาสุก จึงอธิษฐานทำสมุทรให้เงียบเสียง.

ต่อจากนั้น ก็ได้ไปยังมาตุลคิริ. ในที่นั้น มีฝูงนกหนาแน่น ทั้งเสียงก็ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันทั้งกลางคืนและกลางวัน. พระเถระคิดว่า ที่นี้ ไม่เป็นที่ผาสุก จากนั้นจึงได้ไปยังวิหารชื่อว่า สมกุลการาม. วิหารนั้น ไม่ไกลนักไม่ใกล้นักจากวานิชคาม สมบูรณ์ด้วยคมนาคม สงัดเงียบเสียง. พระเถระคิดว่า ที่นี้ผาสุก จึงได้สร้างที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และที่จงกรมเป็นต้นในที่นั้น แล้วเข้าจำพรรษา. ท่านได้อยู่ในที่ ๔ แห่ง ด้วยประการฉะนี้.

ภายหลัง ณ วันหนึ่ง ในภายในพรรษานั้นนั่นเอง พวกพ่อค้า ๕๐๐ คน บรรทุกสินค้าลงในเรือด้วยหวังว่าจะไปสู่สมุทรโน้น. ในวันที่ลงเรือ น้องชายของพระเถระให้พระเถระฉันแล้ว รับสิกขาบทในสำนักของ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 127

พระเถระ ไหว้แล้ว พระเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าสมุทรไว้ใจไม่ได้ ขอท่านทั้งหลายพึงนึกถึงเรา ดังนี้ แล้วขึ้นเรือไป. เรือแล่นไปด้วยความเร็วสูง ถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง. พวกมนุษย์ คิดกันว่า พวกเราจะหาอาหารเช้ากินดังนี้ แล้วลงที่เกาะ. ก็ในเกาะนั้น สิ่งอะไรๆ อื่นไม่มี มีแต่ป่าไม้จันทน์เท่านั้น.

ลำดับนั้น คนๆ หนึ่ง เอามีดเคาะต้นไม้ รู้ว่าเป็นจันทน์แดง จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราไปสู่สมุทรโน้นเพื่อต้องการลาภ ก็ขึ้นชื่อว่า ลาภยิ่งไปกว่านี้ไม่มี ปุ่ม ประมาณ ๔ นิ้ว ได้ราคาตั้งแสน พวกเราบรรทุกสินค้าอันควรจะบรรทุกให้เต็มด้วยไม้จันทน์. คนเหล่านั้น ได้กระทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว. พวกอมนุษย์ ผู้สิงอยู่ในป่าไม้จันทน์โกรธ แล้วคิดว่า คนเหล่านี้ทำป่าไม้จันทน์ของพวกเราให้ฉิบหาย พวกเราจักฆ่าคนพวกนั้นดังนี้ แล้วกล่าวว่า เมื่อคนเหล่านั้นถูกฆ่าในที่นี้แล ซากศพแต่ละซากศพทั้งหมดก็จักปรากฏมีในภายนอก เราจักจมเรือของพวกมันเสียกลางสมุทร. ครั้นในเวลาที่คนเหล่านั้นลงเรือไปได้ครู่เดียวเท่านั้น พวกอมนุษย์เหล่านั้น ทำอุปาติกรูป (รูปผุดเกิดฉับพลัน) ปรากฏขึ้นเองแล้วแสดงรูป ที่น่าสะพึงกลัว. พวกมนุษย์กลัว นอบน้อมต่อเทวดาของตน. กุฎุมพี ชื่อ จุลลปุณณะ น้องชายของพระเถระ ได้ยืนนอบน้อมพระเถระด้วยระลึกว่า ขอพี่ชายจงเป็นที่พึ่งของเรา.

ได้ยินว่า ฝ่ายพระเถระนึกถึงน้องชายในขณะนั้นเหมือนกัน รู้ว่าคนเหล่านั้นเกิดความย่อยยับ จึงเหาะไปยืนอยู่ตรงหน้า. พวกอมนุษย์ พอเห็นพระเถระ คิดว่า พระผู้เป็นเจ้าปุณณเถระมา ก็หลบไป. รูปที่ผุดขึ้นก็

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 128

สงบไป. พระเถระปลอบใจคนเหล่านั้นว่า อย่ากลัวไปเลย ดังนี้ แล้วถามว่า พวกนั้นประสงค์จะไปไหน. คนเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกกระผม จะไปสถานที่ของพวกผมนั่นแหละ พระเถระเหยียบกราบเรือแล้วอธิษฐานว่า ขอเรือจงไปสู่ที่พวกเขาปรารถนา. พวกพ่อค้าไปถึงที่ของตน แล้วบอกเรื่องนั้นแก่บุตรและภรรยา อธิษฐานว่า พวกเราขอถึงพระเถระนั้นว่าเป็นที่พึ่ง ทั้ง ๕๐๐ คน พร้อมด้วยภรรยา ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ในสรณะ ๓ รับปฏิบัติตนเป็นอุบาสก. แต่นั้น ก็ขนสินค้าลงในเรือ จัดเป็นส่วนหนึ่งสำหรับพระเถระแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ นี้เป็นส่วนของท่าน. พระเถระกล่าวว่า อาตมาไม่มีกิจในส่วนหนึ่ง ก็พระศาสดาพวกท่านเคยเห็นแล้วหรือ. ม. ไม่เคยเห็นขอรับ. ถ. ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงสร้างโรงกลม เพื่อพระศาสดาด้วยส่วนนี้ พวกท่านจงเฝ้าพระศาสดาด้วยอาการอย่างนี้. คนเหล่านั้นรับว่า ดีละขอรับ จึงเริ่มเพื่อจะสร้างโรงกลมด้วยส่วนนั้น และด้วยส่วนของตน.

ได้ยินว่า พระศาสดาได้ทรงกระทำโรงกลมนั้น ให้เป็นโรงฉัน จำเดิมแต่กาลเริ่มทำมา. พวกมนุษย์ผู้รักษา เห็นรัศมีในกลางคืน ได้ทำความสำคัญว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มีอยู่. อุบาสกทั้งหลายทำโรงกลม และเสนาสนะสำหรับสงฆ์เสร็จแล้ว ตระเตรียมเครื่องประกอบทานแล้ว แจ้งแก่พระเถระว่า ท่านผู้เจริญ กิจของตนพวกผมทำแล้ว ขอท่านจงกราบทูลพระศาสดาเถิด. ในเวลาเย็น พระเถระไปยังกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ อ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกคนชาววานิชคามประสงค์จะเฝ้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกระทำอนุเคราะห์แก่คนเหล่านั้นเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว. พระเถระกลับมาที่อยู่ของตนตามเดิม.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 129

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานันทเถระมาตรัสว่า อานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจักเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม แคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙ รูป. พระเถระรับพระดำรัสแล้ว จึงได้บอกความนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอภิกษุผู้เดินทางไปทางอากาศจงจับฉลาก. วันนั้น พระกุณฑธานเถระได้จับฉลากเป็นที่หนึ่ง. ฝ่ายพวกคนชาววานิชคามคิดว่า ได้ยินว่าพรุ่งนี้พระศาสดาจักเสด็จมา จึงกระทำมณฑปที่กลางบ้าน แล้วตระเตรียมโรงทาน. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงชำระพระวรกายแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงนั่งเข้าผลสมาบัติ. บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว ท่านรำพึงว่า นี้อะไรกัน จึงเห็นพระศาสดาเสด็จไปยังแคว้นสุนาปรันตะ จึงตรัสเรียกวิสสุกัมเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อเอ้ย วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ท่านจงสร้างเรือนยอด ๕๐๐ หลัง จงประดิษฐานเตรียมไว้ยอดซุ้มประตูพระวิหารพระเชตวัน. วิสสุกรรมเทพบุตรก็ได้จัดตามเทวโองการ เรือนยอดของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็น ๔ มุข. ของพระอัครสาวก ๒ มุข. นอกนั้นมีมุขเดียว. พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จเข้าไปเรือนยอดที่ใกล้ ในบรรดาเรือนยอดอันตั้งไว้ตามลำดับ. มีภิกษุ ๔๙๙ รูป นับตั้งแต่พระอัครสาวกเป็นต้นไป จึงได้เข้าไป ได้มีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง. เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลัง ลอยละลิ่วไปในอากาศ.

พระศาสดา เสด็จถึงสัจจพันธบรรพต ได้พักเรือนยอดไว้บนอากาศ ดาบสผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่อว่าสัจจพันธ์ ที่บรรพตนั้น ให้มหาชนถือ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 130

มิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ถึงความเป็นเลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศอยู่. แต่ธรรมอันเป็นอุปนิสสัยแห่งพระอรหัตตผลในภายในของท่านย่อมรุ่งโรจน์เหมือนประทีปลุกโพลงในภายในฉะนั้น.

พระศาสดาครั้นทรงเห็นดังนั้นแล้ว จึงคิดว่า เราจักแสดงธรรมแก่เขา ดังนี้ แล้วจึงเสด็จไปแสดงธรรม.

ในเวลาจบเทศนา พระดาบสบรรลุพระอรหัต. อภิญญามาถึงท่านพร้อมด้วยพระอรหัตที่บรรลุนั่นเอง. ท่านเป็นเอหิภิกษุ ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ ก็เข้าไปเรือนยอด (หลังที่ว่าง).

พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้อยู่ที่เรือนยอด เสด็จไปวานิชคาม กระทำเรือนยอดไม่ให้มีใครเห็นแล้ว เสด็จเข้ายังวานิชคาม. พวกพ่อค้าถวายทานแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วนำพระศาสดาไปยังกุฏาคาร. พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปยังโรงกลม. มหาชนบริโภคอาหารเช้าตราบเท่าที่คิดว่า พระศาสดาทรงสงบระงับความหิวอาหาร แล้วสมาทานองค์อุโบสถ ถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นอันมากกลับมายังอาราม เพื่อต้องการฟังธรรม. พระศาสดาทรงแสดงธรรมเกิดเป็นประมุขที่ผูกเป็นหุ่นของมหาชน. โกลาหลเพราะพระพุทธองค์ได้มีเป็นอันมาก.

พระศาสดาประทับอยู่ในที่นั้นนั่นเองตลอด ๗ วัน เพื่อสงเคราะห์มหาชน. พออรุณขึ้น ก็ได้ปรากฏอยู่ในมหาคันธกุฏีนั้นเอง. ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ๗ วัน การตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ๗ วัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม ให้

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 131

พระปุณณเถระกลับ ด้วยตรัสสั่งว่า เธอจงอยู่ในที่นี้แล ได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำนัมมทานที อันมีอยู่โดยลำดับ. พระยานาคนัมมทา กระทำการต้อนรับพระศาสดา ให้เสด็จเข้าไปสู่ภพนาค ได้กระทำสักการะต่อพระรัตนตรัย. พระศาสดาแสดงธรรมแก่พระยานาคนั้น แล้วออกจากภพนาค. พระยานาคนั้นอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทานสิ่งที่ควรสละแก่ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเจดีย์ คือรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เจดีย์ คือรอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นหลากมาๆ ย่อมปิด เมื่อคลื่นไปแล้วย่อมเปิดออก ความถึงพร้อมด้วยมหาสักการะได้มีแล้ว. พระศาสดาเสด็จออกจากที่นั้น แล้วเสด็จไปยังสัจจพันธบรรพต ตรัสกะสัจจพันธภิกษุว่า เธอทำให้มหาชนหยั่งลงไปในทางอบาย เธอจงอยู่ในที่นี้แหล่ะ ให้ชนเหล่านั้นสละลัทธิเสีย แล้วให้ดำรงอยู่ในทางแห่งพระนิพพาน. ฝ่ายพระสัจจพันธภิกษุนั้น ทูลขอข้อที่ควรประพฤติ. พระศาสดาแสดงพระเจดีย์ คือรอยพระบาท ที่หลังแผ่นหินแท่งทึบ เหมือนรอยตราที่ก้อนดินเหนียวเปียก. แต่นั้น ก็เสด็จกลับพระวิหารเชตวันตามเดิม. ท่านหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เตเนว อนฺตรวสฺเสน เป็นต้น.

บทว่า ปรินิพฺพายิ ได้แก่ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสปรินิพพานธาตุ. มหาชนกระทำการบูชาสรีระของพระเถระ ๗ วัน ให้รวบรวมไม้หอมเป็นอันมาก ให้ณาปนกิจ แล้วเก็บเอาธาตุทำพระเจดีย์. บทว่า สมฺพหุลา ภิกฺขู ได้แก่ เหล่าภิกษุผู้อยู่ในที่ใกล้พระเถระ. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

จบ อรถถกถาปุณณสูตรที่ ๕