๔. ปมาทวิหารีสูตร ว่าด้วยผู้อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 165
๔. ปมาทวิหารีสูตร
ว่าด้วยผู้อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 165
๔. ปมาทวิหารีสูตร
ว่าด้วยผู้อยู่ด้วยความประมาทและไม่ประมาท
[๑๔๓] กรุงสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท และภิกษุผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท เธอทั้งหลายจงฟังเถิด ก็ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท อย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุมีจิตแส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็ไม่มี เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิก็ไม่มี เมื่อปัสสัทธิไม่มี ภิกษุนั้นก็อยู่ลำบาก จิตของภิกษุผู้มีความลำบาก ย่อมไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทแท้จริง ฯลฯ เมื่อภิกษุไม่สำรวมชิวหินทรีย์ จิตย่อมแส่ไปในรสทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น เมื่อภิกษุมีจิตแส่ไปแล้ว ฯลฯ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทแท้จริง ฯลฯ ภิกษุไม่สำรวมมนินทรีย์อยู่ จิตย่อมแส่ไปในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุมีจิตแส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็ไม่มี เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิก็ไม่มี เมื่อปัสสัทธิไม่มี ภิกษุนั้นก็อยู่ลำบาก จิตของภิกษุผู้มีความลำบากย่อมไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทแท้จริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท ด้วยประการฉะนี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 166
[๑๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท อย่างไร ภิกษุสำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุนั้นมีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบ ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้จริง ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวมชิวหินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรสทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวมมนินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุมีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้นถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยประการฉะนี้.
จบ ปมาทวิหารีสูตรที่ ๔
อรรถกถาปมาทวิหารีสูตรที่ ๔
ในปมาทวิหารีสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อสํวุตสฺส ได้แก่ ไม่ปิด มิใช่ปิดแล้วสำรวมแล้วตั้งไว้. บทว่า พฺยาสิจฺจติ ได้แก่ ย่อมซึมซาบ คือชุ่มด้วยกิเลสเป็นไปอยู่. บทว่า ปามุชฺชํ ได้แก่ ปีติมีกำลังอ่อน. บทว่า ปีติ ได้แก่ ปีติมีกำลังแรง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 167
บทว่า ปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความระงับความกระวนกระวาย. บทว่า ธมฺมา น ปาตุภวนฺติ ได้แก่ ธรรม คือสมถและวิปัสสนา ย่อมไม่เกิดขึ้น. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถามจำแนกบุคคล จึงแสดงถึงบุคคล โดยธรรมาธิษฐาน.
จบ อรรถกถาปมาทวิหารีสูตรที่ ๔