พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อุททกสูตร ว่าด้วยอุททกดาบส

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37199
อ่าน  445

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 175

๑๐. อุททกสูตร

ว่าด้วยอุททกดาบส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 175

๑๐. อุททกสูตร

ว่าด้วยอุททกดาบส

[๑๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุททกดาบสรามบุตรย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้จบเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะทุกอย่างโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุททกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่จบเวท ก็กล่าวว่าเราเป็นผู้จบเวท ยังเป็นผู้ไม่ชนะทุกอย่าง ก็กล่าวว่าเราเป็นผู้ชนะทุกอย่าง ยังไม่ได้ขุดมูลรากแห่งทุกข์ ก็กล่าวว่าเราขุดมูลรากแห่งทุกข์ได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนั้นโดยชอบ ควรกล่าวว่า เราขอบอก เราเป็นผู้จบเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะทุกอย่างโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้จบเวทอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้จบเวทอย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะทุกอย่างอย่างไร ภิกษุรู้แจ้งตามความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 176

เป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะทุกอย่างอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้ อันภิกษุขุดได้แล้วอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า "คัณฑะ" นี้ เป็นชื่อของกายนี้ อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น แตกสลายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา คำว่า "คัณฑมูล" นี้ เป็นชื่อของตัณหา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัณหาภิกษุละเสียแล้ว ให้มีรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครๆ ขุดไม่ได้ ภิกษุขุดเสียแล้วอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุททกดาบสรามบุตร ย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้จบเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราชนะทุกอย่างโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุททกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่จบเวท ก็กล่าวว่าเราเป็นผู้จบเวท ยังไม่เป็นผู้ชนะทุกอย่าง ก็กล่าวว่าเราชนะทุกอย่าง ยังขุดมูลรากแห่งทุกข์ไม่ได้ ก็กล่าวว่าเราขุดมูลรากแห่งทุกข์เสียแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนี้โดยชอบ ควรกล่าวว่า เราขอบอก เราเป็นผู้จบเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะทุกอย่างโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว.

จบ อุททกสูตรที่ ๑๐

จบ ฉฬวรรคที่ ๕

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 177

อรรถกถาอุททกสูตรที่ ๑๐

ในอุททกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ศัพท์ว่า สุทํ ในบทว่า อุทโก สุทํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า อุทโก เป็นชื่อของสูตรนั้น. บทว่า อิทํ ในบทว่า อิทํ ชาตุ เวทคู นี้ เป็นเพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อทรงแสดงว่า ท่านจงฟังคำของเรานี้ จึงได้ตรัสอย่างนั้น. บทว่า ชาตุ เวทคู ความว่า เราจบเวทโดยส่วนเดียว อธิบายว่า ไปในเวไนยสัตว์ด้วยญาณ กล่าวคือ เวท หรือถึง คือบรรลุเวท เป็นบัณฑิต. ด้วยบทว่า ปพฺพชิ ตรัสว่า เรารู้ ครอบงำวัฏฏะทั้งปวง แล้วชนะโดยส่วนเดียว. บทว่า อปลิขตํ คณฺฑมูลํ ได้แก่ รากทุกข์ยังไม่ได้ขุด. ด้วยบทว่า ปริขณิํ ทรงแสดงว่า เราขุดรากทุกข์ที่ขุดแล้วตั้งอยู่.

บทว่า มาตาเปตฺติกสมฺภวสฺส ได้แก่ เกิดด้วยเลือดสุกกะ (ขาว) ซึ่งแบ่งจากมารดาและบิดา คือของมารดาบิดา. บทว่า โอทนกุมฺมาสูปจยสฺส ได้แก่ ก่อสร้างด้วยข้าวสุกและขนมสด. ในบทว่า นิจฺจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺมสฺส นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

กายนี้ ชื่อว่า มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า อบเป็นธรรมดา เพราะลูบไล้ด้วยของหอม เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดกลิ่นเหม็น ชื่อว่า มีการอาบนวดเป็นธรรมดา เพราะใช้น้ำและนวด เพื่อประโยชน์จะบรรเทาความเจ็บปวดอวัยวะน้อยใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มีการประคบประหงมเป็นธรรมดา โดยหยอดยาตา การดัดเป็นต้น เพื่อความสมบูรณ์แก่ทรวดทรงแห่งอวัยวะนั้นๆ ที่ทรวดทรงไม่ดี เพราะอยู่ในครรภ์ คลอดแล้วก็ให้อยู่ที่ระหว่างขาเวลาเป็นทารก.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 178

กาย แม้เขาบริหารอย่างนี้ ก็แตกกายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้นกายจึงต้องแตกและเรี่ยรายไป อธิบายว่า มีสภาวะเป็นอย่างนั้น. ในพระสูตรนั้น ตรัสถึงความเจริญ ด้วยบทว่า กาย เกิดแต่มารดาบิดา การเติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด และการประคบประหงม. ตรัสถึงความเสื่อม ด้วยบทว่า ไม่เที่ยง แตก และการกระจัดกระจาย อีกอย่างหนึ่ง ตรัสการเกิดขึ้น ด้วยบทก่อนๆ และการดับไป ด้วยบทหลังๆ ทรงแสดง ความต่างแห่งการเจริญ การเสื่อมและการบังเกิดแห่งกาย ซึ่งประชุมด้วยมหาภูตรูป ๔ ด้วยประการฉะนี้. คำที่เหลือมีอรรถง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาอุททกสูตรที่ ๑๐

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสังคัยหสูตร ๒. ทุติยสังคัยหสูตร ๓. ปริหานสูตร ๔. ปมาทวิหารีสูตร ๕. สังวรสูตร ๖. สมาธิสูตร ๗. ปฏิสัลลีนสูตร ๘. ปฐมนตุมหากสูตร ๙. ทุติยนตุมหากสูตร ๑๐. อุททกสูตร

รวมวรรคที่มีในทุติยปัณณาสก์ คือ

๑. อวิชชาวรรค ๒. มิคชาลวรรค ๓. คิลานวรรค ๔. ฉันนวรรค ๕. ฉฬวรรค.

จบ ฉฬวรรคที่ ๕

จบ ทุติยปัณณาสก์