๒. ทุติยมารปาสสูตร ว่าด้วยการตกอยู่และไม่ตกอยู่ในอํานาจของมาร
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 193
๒. ทุติยมารปาสสูตร
ว่าด้วยการตกอยู่และไม่ตกอยู่ในอํานาจของมาร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 193
๒. ทุติยมารปาสสูตร
ว่าด้วยการตกอยู่และไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร
[๑๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พัวพันอยู่ในรูป ไปสู่ที่อยู่ของมาร ตกอยู่ในอำนาจของมาร ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามปรารถนา ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพัน ธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พัวพันอยู่ในธรรมารมณ์ ไปสู่ที่อยู่ของมาร ตกอยู่ในอำนาจของมาร ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามปรารถนา.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 194
[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง รูปที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พ้นไปจากรูป ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร อันมารผู้มีบาปพึงทำตามปรารถนาไม่ได้ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พ้นไปจากธรรมารมณ์ ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร อันมารผู้มีบาปพึงทำตามปรารถนาไม่ได้.
จบ ทุติยมารปาสสูตรที่ ๒
โลกกามคุณวรรคที่ ๒
อรรถกถามารปาสสูตรที่ ๑ - ๒
โลกกามคุณวรรค มารปาสสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ในบทว่า อาวาสคโต ได้แก่ ไปสถานที่อยู่. บทว่า มารสฺส วสคโต ได้แก่ ตกไปอยู่ในอำนาจมารแม้ทั้ง ๓. บทว่า ปฏิมุกฺกสฺส มารปาโส ได้แก่ บ่วงแห่งมาร ที่สวมคล้องไว้ที่คอของมารนั้น สูตรที่ ๒ ง่ายทั้งนั้น.
จบ อรรถกถามารปาสสูตรที่ ๑ - ๒