๓. ปฐมโลกกามคุณสูตร ว่าด้วยโลกในวินัยของพระอริยะ
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 195
๓. ปฐมโลกกามคุณสูตร
ว่าด้วยโลกในวินัยของพระอริยะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 195
๓. ปฐมโลกกามคุณสูตร
ว่าด้วยโลกในวินัยของพระอริยะ
[๑๖๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามิได้กล่าวว่า ที่สุดของโลกอันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงด้วยการไป และเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดทุกข์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกันว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศข้อนี้แก่เราทั้งหลายโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอ จะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า ท่านพระอานนท์นี้ พระศาสดาและเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านย่อมสามารถเพื่อจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วเรียนถามเนื้อความข้อนั้นกะท่านเถิด.
[๑๗๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศข้อนี้โดยย่อ ไม่ทรงจำแนก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 196
เนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสีย เมื่อพระองค์เสด็จลุกไปไม่นาน พวกเราจึงใคร่ครวญดูว่า ใครหนอ จะช่วยจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ พวกเราจึงคิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี้ อันพระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่อง สรรเสริญ ทั้งท่านพระอานนท์นี้ย่อมสามารถจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไร เราพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่าน ขอท่านพระอานนท์ได้โปรดจำแนกเนื้อความเถิด.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวหาแก่นไม้อยู่ กลับล่วงเลยราก ล่วงเลยลำต้นแห่งต้นไม้มีแก่นต้นใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะหน้าไปเสีย มาสำคัญแก่นไม้ จะพึงแสวงหาได้ที่กิ่งและใบ ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น คือพวกท่านล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับอยู่เฉพาะหน้า ในฐานะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายไปเสีย มาสำคัญเนื้อความที่จะไต่ถามนี้ แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อทรงทราบ ย่อมทราบ เมื่อทรงเห็น ย่อมเห็น พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้กล่าว เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ทำเนื้อความให้ตื้น เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่แท้ เวลานี้ เป็นกาลสมควรที่จะทูลถามเนื้อความข้อนั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแก้ปัญหาแก่ท่านทั้งหลายอย่างใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 197
ภิ. ท่านอานนท์ ข้อที่ท่านว่านั้นเป็นการถูกต้องแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราบ ย่อมทราบ เมื่อทรงเห็น ย่อมเห็น พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้กล่าว เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ทำเนื้อความให้ตื้น เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่แท้ เวลานี้ เป็นกาลสมควรที่จะทูลถามเนื้อความข้อนั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแก้ปัญหาแก่พวกเราอย่างใด พวกเราควรทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้น ก็แต่ว่า ท่านอานนท์ก็เป็นผู้ที่พระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านก็สามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ขอท่านอย่าได้หนักใจ โปรดช่วยจำแนกเนื้อความทีเถิด.
[๑๗๑] อา. อาวุโสทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย จงคอยฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสียนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้ว อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมทราบเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ อาวุโสทั้งหลาย บุคคลย่อมมีความสำคัญในโลกว่าโลก ถือว่าโลก ด้วยธรรมอันใด ธรรมนี้เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยะ อาวุโสทั้งหลาย บุคคลย่อมมีความสำคัญในโลกว่าโลก ถือว่าโลก ด้วยธรรมอะไรเล่า อาวุโสทั้งหลาย บุคคลย่อมมีความ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 198
สำคัญในโลกว่าโลก ถือว่าโลก ด้วยจักษุ ฯลฯ ด้วยหู ฯลฯ ด้วยจมูก ฯลฯ ด้วยลิ้น ฯลฯ ด้วยกาย ฯลฯ ด้วยใจ อาวุโสทั้งหลาย บุคคลย่อมมีความสำคัญในโลกว่าโลก ถือว่าโลก ด้วยธรรมอันใด ธรรมนี้เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยะ อาวุโสทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารว่า เรามิได้กล่าวว่า ที่สุดของโลก อันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงด้วยการไป และเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดทุกข์ ดังนี้ แล้วเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสียนั้น อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมทราบเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารอย่างนี้ อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายประสงค์ความแจ่มแจ้ง พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามเนื้อความข้อนั้นเถิด พระองค์ทรงพยากรณ์แก่พวกท่านอย่างไร ก็พึงทรงจำข้อที่ตรัสนั้นอย่างนั้นเถิด.
[๑๗๒] ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้นท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้ว ลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารแก่พวกข้าพระองค์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามิได้กล่าวว่า ที่สุดของโลกอันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงด้วยการไป และเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดทุกข์ ดังนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสีย เมื่อพระองค์เสด็จลุกไปไม่นาน พวกข้าพระองค์คิดกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 199
ทรงแสดงอุเทศนี้แก่เราทั้งหลายโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสีย ใครหนอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงแสดงเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น พวกข้าพระองค์มีความคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้ เป็นผู้ที่พระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งสามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไรพวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วพึงไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่านเถิด ครั้นคิดดังนั้นแล้ว พวกข้าพระองค์ก็เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว ไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่าน ท่านพระอานนท์ก็จำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากท่านทั้งหลายพึงไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะเรา แม้เรา ก็พึงแก้ปัญหานั้นเหมือนอย่างที่อานนท์กล่าวแก้ปัญหานั่นแหละ นั่นเป็นเนื้อความแห่งอุเทศนั้น ท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนี้เถิด.
จบ โลกกามคุณสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 200
อรรถกถาปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓
ในปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า โลกสฺส ได้แก่ โลกจักรวาล. บทว่า โลกสฺส อนฺตํ ได้แก่ ที่สุดแห่งสังขารโลก. บทว่า วิหารํ ปาวิสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เมื่อเราเข้าไปสู่วิหาร ภิกษุเหล่านี้ จักถามอุทเทสนี้กะพระอานนท์ พระอานนท์จักกล่าวเทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณของเราแก่ภิกษุเหล่านั้น แต่นั้นเราจักชมเชยเธอ ภิกษุทั้งหลายฟังการชมเชยของเรา จักสำคัญพระอานนท์ว่าควรเข้าไปหา จักสำคัญคำของเธอว่า ควรฟัง ควรเชื่อถือ ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ภิกษุเหล่านั้นตลอดกาลนาน จึงมิได้ทรงจำแนกอรรถแห่งคำที่ตรัสโดยย่อให้พิสดาร แล้วหายไป ณ อาสนะที่ประทับนั่ง ไปปรากฏในพระคันธกุฎี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุฏฺายาสนา วิหารํ ปาวิสิ.
บทว่า สตฺถุ เจว สํวณฺณิโต แปลว่า อันพระศาสดาสรรเสริญแล้ว. แม้บทว่า วิญฺญูนํ นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ ความว่า อันเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายยกย่องแล้ว. บทว่า ปโหติ แปลว่า อาจ.
บทว่า อติกฺกมฺเมว มูลํ อติกฺกมฺม ขนฺธํ ความว่า ชื่อว่า แก่น พึงมีที่รากหรือลำต้น ก็เลยแก่นนั้นไปเสีย. บทว่า เอวํ สมฺปทมิทํ ได้แก่ ข้ออุปมัย เช่นนี้ก็ฉันนั้น. บทว่า อติสิตฺวา แปลว่า ก้าวล่วง. บทว่า ชานํ ชานาติ ได้แก่ย่อมรู้ สิ่งที่ควรรู้เท่านั้น. บทว่า ปสฺสํ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 201
ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็น สิ่งที่ควรเห็นเท่านั้น. อนึ่ง บุคคลบางคน แม้เมื่อยึดถือสิ่งที่ผิดๆ ก็ยิ่งไม่รู้ แม้เมื่อเห็น ก็ชื่อว่า ไม่เห็น ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า หาเป็นฉันนั้นไม่ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบ ชื่อว่า ทรงทราบ เมื่อทรงเห็น ก็ชื่อว่า ทรงเห็นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีจักษุ เพราะอรรถว่า มีทัสสนะเป็นตัวนำ ชื่อว่า เป็นผู้มีญาณ เพราะอรรถว่า กระทำความเป็นผู้รู้แจ้ง ชื่อว่า เป็นผู้มีธรรม เพราะสำเร็จมาแต่ธรรม เหมือนคิดด้วยพระหทัย เปล่งด้วยพระวาจา เพราะอรรถว่า มีความไม่แปรปรวนเป็นสภาวะ หรือเพราะประกาศโดยปริยัติธรรม ชื่อว่า เป็นพรหม เพราะอรรถว่า เป็นผู้ประเสริฐ อีกนัยหนึ่ง ทรงเป็นราวกะว่า มีจักษุ ชื่อ จักขุภูโต. พึงทราบอรรถในบทเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น ชื่อว่า เป็นผู้กล่าว เพราะอรรถว่า กล่าวธรรม ชื่อว่า เป็นผู้ประกาศ เพราะยังธรรมให้เป็นไป ชื่อว่า เป็นผู้แนะนำข้อความ เพราะทรงสามารถนำพระหัตถ์ออกชี้แจงได้ ชื่อว่า ประทานอมตะ เพราะทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุอมตะได้.
บทว่า อครุํ กริตฺวา ความว่า แม้เมื่อไม่ให้เขาอ้อนวอนบ่อยๆ ชื่อว่า ทรงกระทำให้หนัก แม้เมื่อทรงยืนหยัดอยู่ในเสขปฏิสัมภิทาญาณของพระองค์แล้วแสดงให้รู้ได้ยาก เหมือนขุดทรายขึ้นจากเชิงเขาสิเนรุ ชื่อว่า ทำให้หนักเหมือนกัน. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ไม่ยอมให้พวกเราขอบ่อยๆ กล่าวให้พวกเรารู้ได้ง่าย.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 202
บทว่า ยํ โข โว ได้แก่ ยญฺจโข ตุมฺหากํ. บทว่า จกฺขุนา โข อาวุโส โลกสฺมิํ โลกสญฺี โหติ โลกมานี ความว่า ปุถุชน ผู้ยังละทิฏฐิไม่ได้ในโลก ย่อมจำหมายและย่อมสำคัญด้วยจักษุทั้งหลาย ว่าโลก คือสัตว์โลก ย่อมจำหมายและสำคัญด้วยอำนาจ จักกวาลโลก ก็อย่างนั้น จริงอยู่ เว้นอายตนะ ๑๒ มีจักขวายตนะเป็นต้น สัญญา หรือ มนะนั้น ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เขา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จกฺขุนา โข อาวุโส โลกสฺมิํ โลกสญฺี โหติ โลกมานี ดังนี้. ก็ขึ้นชื่อว่า ที่สุดแห่งโลกนี้ ใครๆ ไม่อาจจะรู้ จะเห็น จะถึงด้วยการไปได้ แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ การดับโลก อันต่างด้วยจักขุเป็นต้นนั้นนั่นแล เพราะอรรถว่า เป็นของชำรุด พึ่งทราบว่า ชื่อว่า ไม่มีการกระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์.
ครั้นวิสัชนาปัญหาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะส่งภิกษุเหล่านั้นไป ด้วยคำว่า พวกท่านอย่าสงสัยไปเลยว่า พระสาวกถามปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ประทับนั่งจับตาชั่ง คือพระสัพพัญญุตญาณ พวกท่านเมื่อปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระองค์นั้นนั่นแล ก็คงหายสงสัย จึงกล่าวว่า อากงฺขมานา เป็นต้น.
บทว่า อิเมหิ อากาเรหิ ความว่า ด้วยเหตุเหล่านี้ คือด้วยเหตุแห่งความมีที่สุดแห่งจักรวาลโลก และด้วยเหตุยังไม่ถึงที่สุดแห่งสังขารโลก. บทว่า อิเมหิ ปเทหิ ได้แก่ ด้วยการประมวลอักษรเหล่านี้. บทว่า พฺยญฺชเนหิ ได้แก่ ด้วยอักษรแผนกหนึ่ง. บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดด้วยเหตุ ๔ ประการ คือเป็นผู้ฉลาดในธาตุ เป็นผู้ฉลาดในอายาตนะ เป็นผู้ฉลาดใน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 203
ปัจจยาการ เป็นผู้ฉลาดในเหตุและมิใช่เหตุ. บทว่า มหาปญฺโ คือเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญามาก เพราะเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดถือเอาอรรถเป็นอันมาก ธรรมเป็นอันมาก นิรุตติเป็นอันมาก ปฏิภาณเป็นอันมาก. บทว่า ยถา ตํ อานนฺเทน ความว่า ท่านกล่าวหมายเอาคำที่ท่านพระอานนท์พยากรณ์ไว้. อธิบายว่า คำนั้น ท่านพระอานนท์พยากรณ์ไว้อย่างใด แม้เราก็พึงพยากรณ์คำนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
จบ อรรถกถาปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓