๔. ทุติยโลกกามคุณสูตร ว่าด้วยความดับแห่งอายตนะ ๖
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 203
๔. ทุติยโลกกามคุณสูตร
ว่าด้วยความดับแห่งอายตนะ ๖
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 203
๔. ทุติยโลกกามคุณสูตร
ว่าด้วยความดับแห่งอายตนะ ๖
[๑๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนตรัสรู้ เราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความปริวิตกว่า เบญจกามคุณของเราที่เราเคยสัมผัสด้วยใจมาแล้ว ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จิตของเราเมื่อเกิดพึงเกิดขึ้นในเบญจกามคุณที่เป็นปัจจุบันมาก หรือที่เป็นอนาคตน้อย ลำดับนั้น เราคิดว่า เบญจกามคุณของเราที่เราเคยสัมผัสด้วยใจมาแล้ว ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว เราปรารถนาประโยชน์แก่ตนพึงทำความไม่ประมาทในเบญจกามคุณนั้น และสติให้เป็นเครื่องรักษาจิต เพราะเหตุนั้นแหละ เบญจกามคุณ แม้ของท่านทั้งหลาย ที่ท่านทั้งหลายเคยสัมผัสด้วยใจมาแล้ว ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว จิตของท่านทั้งหลายเมื่อเกิดพึงเกิดขึ้นในเบญจกามคุณที่เป็นปัจจุบันมาก หรือ ที่เป็นอนาคตน้อย (เช่นเดียวกัน) เพราะเหตุนั้นแหละ เบญจกามคุณ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 204
แม้ของท่านทั้งหลาย ที่ท่านทั้งหลายเคยสัมผัสด้วยใจมาแล้ว ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ท่านทั้งหลายปรารถนาประโยชน์แก่ตนพึงทำความไม่ประมาทในเบญจกามคุณนั้น และสติให้เป็นเครื่องรักษาจิต แล้วตรัสต่อไปอีกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ อายตนะอันบุคคลจำต้องรู้ไว้ คือจักษุดับ ณ ที่ใด รูปสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น หูดับ ณ ที่ใด สัททสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น จมูกดับ ณ ที่ใด คันธสัญญา ก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ลิ้นดับไป ณ ที่ใด รสสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น กายดับ ณ ที่ใด โผฏฐัพพสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ใจดับ ณ ที่ใด ธรรมสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นมีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศนี้แก่เราทั้งหลายโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารว่า เพราะเหตุนั้นแหละ อายตนะอันบุคคลจำต้องรู้ไว้ คือจักษุดับ ณ ที่ใด รูปสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจดับ ณ ที่ใด ธรรมสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ดังนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสีย ใครหนอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้ เป็นผู้ที่พระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านสามารถจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วพึงไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่านเถิด.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 205
[๑๗๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศนี้แก่พวกเราโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสีย เมื่อพระองค์เสด็จลุกไปไม่นาน พวกเราจึงใคร่ครวญว่า ใครหนอจะช่วยจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ พวกเราจึงคิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี้เป็นผู้อันพระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งสามารถจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่าน ขอท่านพระอานนท์ได้โปรดจำแนกเนื้อความเถิด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวหาแก่นไม้อยู่ กลับล่วงเลยราก ล่วงเลยลำต้นแห่งต้นไม้มีแก่นต้นใหญ่ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะหน้าไปเสีย มาสำคัญแก่นไม้ที่จะพึงแสวงหาได้ที่กิ่งและใบ ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น คือพวกท่าน ล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับอยู่เฉพาะหน้า ในฐานะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายไปเสีย มาสำคัญเนื้อความที่จะไต่ถามนี้กะข้าพเจ้า แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราบ ย่อมทราบ เมื่อทรงเห็น ย่อมเห็น พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้กล่าว เป็นผู้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 206
ประกาศ เป็นผู้ทำเนื้อความให้ตื้น เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่แท้ เวลานี้เป็นกาลสมควรที่จะทูลถามเนื้อความข้อนั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแก้ปัญหาแก่ท่านทั้งหลายอย่างใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด.
ภิ. ท่านอานนท์ ข้อที่ท่านว่านั้นเป็นการถูกต้องแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราม ย่อมทราบ เมื่อทรงเห็น ย่อมเห็น พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้กล่าว เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ทำเนื้อความให้ตื้น เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่แท้ เวลานี้เป็นกาลสมควรที่จะทูลถามเนื้อความข้อนั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแก้ปัญหาแก่พวกเราอย่างใด พวกเราก็ควรทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้น ก็แต่ว่า ท่านอานนท์เป็นผู้ที่พระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านก็สามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ขอท่านอย่าได้หนักใจ โปรดช่วยจำแนกเนื้อความทีเถิด.
[๑๗๕] อา. ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสียนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้ว ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมย่อมทราบเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 207
ความให้พิสดารนี้โดยพิสดารว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระพุทธวจนะนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาษิต หมายเอาความดับแห่งอายตนะ ๖ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสียนั้น ผมรู้เนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารอย่างนี้แล ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายประสงค์ความแจ่มแจ้ง พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามเนื้อความข้อนั้น พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อที่ตรัสนั้นไว้อย่างนั้นเถิด.
[๑๗๖] ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้ว ลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่วิหารเสีย เมื่อพระองค์เสด็จลุกไปไม่นาน ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงใคร่ครวญดูว่า ฯลฯ ใครหนอจะช่วยจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ข้าพระองค์ทั้งหลายคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้ เป็นผู้ที่พระศาสดาและเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านสามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้โดยพิสดารได้ ถ้ากระไร เราทั้งหลายพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่านเถิด ครั้นคิด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 208
ฉะนี้แล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายก็เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วไต่ถามเนื้อความข้อนั้นกะท่าน ท่านพระอานนท์ก็จำแนกเนื้อความแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากท่านทั้งหลายพึงถามเนื้อความข้อนั้นกะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์ปัญหานั้น เหมือนอย่างที่อานนท์พยากรณ์แล้วนั้นแหละ นั่นเป็นเนื้อความแห่งอุเทศนั้น ท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด.
จบ ทุติยโลกกามคุณสูตรที่ ๔
อรรถกถาทุติยโลกกามคุณสูตรที่ ๔
ในทุติยโลกกามคุณสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า เย เม ได้แก่ เย มม. บทว่า เจตโส สมฺผุฏฺปุพฺพา ได้แก่ กามคุณ ๕ อันจิตเคยเสวยแล้ว ด้วยคำว่า ตตฺร เม จิตฺตํ พหุลํ คจฺฉมานํ คจฺเฉยฺย นี้ ท่านแสดงว่า จิตเมื่อเกิด ย่อมเกิดมากวาระในกามคุณ ๕ ที่เคยเสวยแล้ว ด้วยอำนาจสมบัติต่างด้วยปราสาท ๓ ชั้น และนางรำเป็นต้นเหล่านั้น. บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเน วา ความว่า พระองค์เมื่อจะทรงแสดงอารมณ์น่ารักรื่นรมย์แห่งใจ ต่างด้วยรูปที่เคยเห็น และเสียงที่เคยได้ฟังเป็นต้น ด้วยอำนาจไพรสณฑ์ที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง สระที่เกิดโดยธรรมชาติ และหมู่มฤคเป็นต้น ให้เป็นสิ่งที่น่าใคร่ (กามคุณ) ในเวลาทรงบำเพ็ญเพียรตลอด ๖ พรรษานี้ จึงทรงแสดงว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 209
หรือในปัจจุบันเห็นปานนี้ จิตพึงเกิดขึ้นเป็นส่วนมาก. ด้วยบทว่า อปฺปํ วา อนาคเตสุ นี้ ทรงแสดงว่า จิตที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น พึงเกิดขึ้นในกามคุณด้วยสามารถแห่งคำเป็นต้นว่า ในอนาคต จักมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า เมตตรัย พระราชาทรงพระนามว่า สังขะ ราชธานีนามว่า เกตุมดี. บทว่า ตตฺร เม อตฺตรูเปน ความว่า ในที่นั้น เราผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน (พึงทำ) บทว่า อปฺปมาโท ได้แก่ กระทำให้สติเป็นไปติดต่อ คือไม่ปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕. บทว่า สติ ได้แก่ สติคอยกำหนดจับอารมณ์. บทว่า อารกฺโข ความว่า ความไม่ประมาทและสตินี้ เป็นเครื่องกระทำอารักขาจิต ท่านแสดงไว้ว่า ความคิดอย่างนั้นได้มีแก่เราแล้ว. ท่านอธิบายไว้ว่า ควรกระทำธรรม ๒ (คือ อัปปมาทและสติ) อย่างเหล่านี้ เพื่อประโยชน์แก่อารักขา.
บทว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว เส อายตเน เวทิตพฺเพ เพราะเหตุที่ควรกระทำความไม่ประมาทและสติ เพื่อประโยชน์แก่อารักขา เพราะเหตุที่เมื่อรู้แจ้งอายตนะนั้นแล้ว ไม่จำต้องทำด้วยความไม่ประมาทหรือสติ ฉะนั้นแล จึงควรทราบอายตนะนั้น อธิบายว่า จำต้องรู้เหตุนั้น. บทว่า สฬายตนนิโรธํ ความว่า การดับสฬายตนะเรียกว่า นิพพาน. อธิบายว่า ท่านกล่าวหมายเอาพระนิพพานนั้น. จริงอยู่ จักขวายตนะเป็นต้น และรูปสัญญาเป็นต้น ย่อมดับในเพราะพระนิพพานนั้น. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
จบ อรรถกถาทุติยโลกกามคุณสูตรที่ ๔