พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สักกสูตร ว่าด้วยทรงแก้ปัญหาของท้าวสักกะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37215
อ่าน  387

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 210

๕. สักกสูตร

ว่าด้วยทรงแก้ปัญหาของท้าวสักกะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 210

๕. สักกสูตร

ว่าด้วยทรงแก้ปัญหาของท้าวสักกะ

[๑๗๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอ ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไร ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน.

[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนท่านจอมเทพ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุยังมีอุปาทาน ยังไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อเธอเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี ภิกษุผู้ยังมีอุปาทาน ยังไม่ปรินิพพาน ดูก่อนท่านจอมเทพ เหตุปัจจัยนี้แล ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานใน ปัจจุบัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 211

[๑๗๙] ดูก่อนท่านจอมเทพ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ดูก่อนท่านจอมเทพ เหตุปัจจัยนี้แล ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน.

จบ สักกสูตรที่ ๕

อรรถกถาสักกสูตรที่ ๕

ในสักกสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทิฏฺเว ธมฺเม ได้แก่ ในอัตภาพนี้เอง. บทว่า ปรินิพฺพายนฺติ ได้แก่ ย่อมปรินิพพาน ด้วยการดับสนิทซึ่งกิเลส. บทว่า ตํ นิสฺสิตํ วิญฺาณํ โหติ ได้แก่ กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา.

จบ อรรถกถาสักกสูตรที่ ๕