พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. หาลิททกานิสูตร ว่าด้วยความบังเกิดขึ้นแห่งความแตกต่างแห่งเวทนาเป็นต้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37227
อ่าน  357

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 241

๗. หาลิททกานิสูตร

ว่าด้วยความบังเกิดขึ้นแห่งความแตกต่างแห่งเวทนาเป็นต้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 241

๗. หาลิททกานิสูตร

ว่าด้วยความบังเกิดขึ้นแห่งความแตกต่างแห่งเวทนาเป็นต้น

[๒๐๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่เรือนสกุล ใกล้สังปวัตตบรรพต ในอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล หาลิททกานิคฤหบดี เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ อย่างไรหนอ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 242

[๒๐๒] ท่านมหากัจจายนะตอบว่า ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา อนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ดูก่อนคฤหบดี อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์อย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา อนึ่งภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์นี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์อย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณ และผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ดูก่อนคฤหบดี ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ด้วยประการอย่างนี้แล.

จบ หาลิททกานิสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 243

อรรถกถาหาลิททกานิสูตรที่ ๗

ในหาลิททกานิสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มนาปํ อิตฺเถตนฺติ ปชานาติ ภิกษุย่อมรู้ชัดรูปที่น่าชอบใจ ที่ใจเห็นแล้วว่ารูปนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น รูปนั้นเป็นอย่างนั้น รูปนั้นน่าชอบใจเหมือนกัน. บทว่า จกฺขุวิญฺาณํ สุขเวทนิยํ ผสฺสํ ปฏิจฺจ ความว่า จักขุวิญญาณและผัสสะใดอันเป็นปัจจัยแก่สุขเวทนา โดยที่สุดแห่งอุปนิสสยปัจจัย หรือโดยที่สุดแห่งอนันตรปัจจัย หรือโดยที่สุดแห่งสมนันตรปัจจัย หรือโดยที่สุดแห่งสัมปยุตตปัจจัย คือสุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะที่เสวยสุขเวทนานั้น ในบททั้งปวงก็นัยนี้. เพราะเหตุนั้นในสูตรทั้งสองเหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวกิริยามโนวิญญาณธาตุว่า ทำอาวัชชนกิจ หรือว่าท่านกล่าวมโนธาตุเท่านั้น โดยชื่อว่ามโนธาตุเสมอกัน.

จบ อรรถกถาหาลิททกานิสูตรที่ ๗