พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เทวทหสูตร ว่าด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37231
อ่าน  724

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 258

เทวทหวรรคที่ ๔

๑. เทวทหสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 258

เทวทหวรรคที่ ๔

๑. เทวทหสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖

[๒๑๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมชื่อว่า เทวทหะ ของศากยราชทั้งหลาย ในสักกชนบท ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้กล่าวว่า ภิกษุทุกรูปควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่เราไม่กล่าวว่า ภิกษุทุกรูปไม่ควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุโดยลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่ควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะเหตุว่า กิจอันจะพึงทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุอรหันต์เหล่านั้นทำเสร็จแล้ว ไม่ควรประมาทด้วยกิจนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะเหตุว่า รูปทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจก็มี อันไม่เป็นที่รื่นรมย์ใจก็มี รูปเหล่านั้นถูกกระทบกระทั่งแล้ว ย่อมไม่ยึดจิตของ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 259

บุคคลนั้นตั้งอยู่ เพราะการไม่ยึดจิต ความเพียรไม่ย่อหย่อน เป็นอันบุคคลนั้นปรารภแล้ว สติไม่หลงลืม เป็นอันบุคคลนั้นเข้าไปตั้งไว้แล้ว กายไม่กระสับกระส่ายสงบจิตมีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทนี้แล จึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ฯลฯ ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจก็มี อันไม่เป็นที่รื่นรมย์ใจก็มี ธรรมารมณ์เหล่านั้น กระทบกระทั่งแล้วๆ ย่อมไม่ยึดจิตของบุคคลนั้นตั้งอยู่ เพราะการไม่ยึดจิต ความเพียรไม่ย่อหย่อน เป็นอันบุคคลนั้นปรารภแล้ว สติไม่หลงลืม เป็นอันบุคคลนั้นเข้าไปตั้งไว้แล้ว กายไม่กระสับกระส่าย ก็สงบจิตมีอารมณ์อันเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทนี้แล จึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นควรทำกิจด้วยความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖.

จบ เทวทหสูตรที่ ๑

เทวทหวรรคที่ ๔

อรรถกถาเทวทหสูตรที่ ๑

เทวทหวรรค เทวทหสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

นิคม ได้ชื่อ โดยนปุํสกลิงค์ว่า เทวทหํ. บทว่า มโนรมา แปลว่า เป็นที่ยังใจให้ยินดี อธิบายว่า เป็นที่เอิบอาบใจ. บทว่า อมโนรมา แปลว่า ไม่เป็นที่เอิบอาบใจ.

จบ อรรถกถาเทวทหสูตรที่ ๑