พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปฐมรูปารามสูตร ว่าด้วยผู้ยินดีในอายตนะ ๖ อยู่เป็นทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37233
อ่าน  526

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 262

๓. ปฐมรูปารามสูตร

ว่าด้วยผู้ยินดีในอายตนะ ๖ อยู่เป็นทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 262

๓. ปฐมรูปารามสูตร

ว่าด้วยผู้ยินดีในอายตนะ ๖ อยู่เป็นทุกข์

[๒๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป เทวดาและมนุษย์ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เทวดา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 263

และมนุษย์เป็นผู้มีเสียงเป็นที่มายินดี ฯลฯ เป็นผู้มีกลิ่นเป็นที่มายินดี ฯลฯ เป็นผู้มีรสเป็นที่มายินดี ฯลฯ เป็นผู้มีโผฏฐัพพะเป็นที่มายินดี ฯลฯ เป็นผู้มีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในธรรมารมณ์ เพราะธรรมารมณ์แปรปรวนคลายไปและดับไป เทวดาและมนุษย์ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้วซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูปทั้งหลาย ตามความเป็นจริง ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี ไม่เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป ไม่เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้วซึ่งความเกิดขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะ ฯลฯ ธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง ย่อมไม่เป็นผู้มีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี ไม่เป็นผู้ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ ไม่เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในธรรมารมณ์ เพราะธรรมารมณ์แปรปรวนไป คลายไปและดับไป ตถาคตก็ย่อมอยู่เป็นสุข.

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๒๑๗] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ และน่าพอใจ ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด รูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้น นั่นแล เป็นสิ่งอันชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก สมมติว่าเป็นสุข ถ้าว่ารูปารมณ์เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 264

เหล่านั้นดับไปในที่ใด ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่าเป็นทุกข์ ส่วนว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นการดับสักกายะ (รูปารมณ์เป็นต้น ที่บุคคลถือว่าเป็นของตน) ว่าเป็นสุข การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้ ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่าเป็นทุกข์ บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่าเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่าเป็นสุข เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อ เหมือนความมัวมนย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น นิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ถึงอยู่ใกล้ก็ไม่รู้แจ้งธรรมนี้ อันบุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ ผู้แล่นไปตามกระแสตัณหาในภพ ผู้อันบ่วงแห่งมารรัดรึงไว้แล้ว ไม่ตรัสรู้ได้ง่ายเลย ใครหนอ เว้นจากพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรจะตรัสรู้นิพพานบท ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน.

จบ ปฐมรูปารามสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 265

อรรถกถาปฐมรูปารามสูตรที่ ๓

ในปฐมรูปารามสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า รูปสมุทิตา แปลว่า บันเทิงในรูป. บทว่า ทุกฺขา แปลว่า ถึงทุกข์. บทว่า สุโข แปลว่า ถึงสุข ด้วยสุขในพระนิพพาน.

บทว่า เกวลา แปลว่า ทั้งสิ้น. บทว่า ยาวตตฺถีติ วุจฺจติ ความว่า กล่าวว่า มีอยู่ประมาณเท่าใด. โว อักษร ในคำว่า เอเต โว นี้ เป็น เพียงนิบาต. บทว่า ปจฺจนิกมิทํ โหติ สพฺพโลเกน ปสฺสตํ ความว่า ความเห็นของบัณฑิตผู้เห็น ย่อมขัดแย้งผิดกับชาวโลกทั้งมวล. จริงอยู่ ชาวโลกสำคัญขันธ์ ๕ ว่า เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เป็นของงาม บัณฑิต สำคัญว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่งาม. บทว่า สุขโต อาหุ ได้แก่ กล่าวว่า เป็นสุข. บทว่า สุขโต วิทู ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย รู้ว่าเป็นสุข. คำทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวหมายเอาพระนิพพานทั้งนั้น.

ในบทว่า สมฺมูฬฺเหตฺถ นี้ ได้แก่ ผู้หลงพระนิพพาน. บทว่า อวิทฺทสุ ได้แก่ คนเขลาทั้งหลาย. จริงอยู่ เจ้าลัทธิ ๙๕ (๑) ลัทธิทั้งหมด ความสำคัญว่า "พวกเราจักบรรลุพระนิพพาน" แต่พวกเขาย่อมไม่รู้ แม้ว่า "ชื่อว่านิพพานคือสิ่งนี้". บทว่า นิวุตานํ ได้แก่ ถูกเครื่องกางกั้น คือกิเลส หุ้มห่อ ร้อยรัดไว้. บทว่า อนฺธกาโร อปสฺสตํ ได้แก่ ความมืดมนย่อมมีแก่ผู้ไม่เห็น. ถามว่า ข้อนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น. แก้ว่า


(๑) พม่า เป็น ๙๖

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 266

คนเขลาย่อมไม่ประสบพระนิพพานหรือการเห็นพระนิพพาน. จริงพระนิพพานก็ดี การเห็นพระนิพพานก็ดี ของคนพาลผู้ไม่เห็นอยู่ ย่อมเป็นเหมือนมณฑลพระจันทร์ที่ถูกเมฆดำปิดไว้ เหมือนภาชนะที่กะทะบังไว้ และเหมือนสิ่งของที่เปิดเผยอยู่แล้วเป็นนิจ. สองบาทคาถาว่า สตญฺจ วิวฏํ โหติ อาโลโก ปสฺสตามิว ความว่า วิวฏะ คือนิพพาน ย่อมมีแก่ผู้สงบ คือสัตบุรุษผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาทัสสนะ เหมือนแสงสว่างมีอยู่แก่บุคคลผู้เห็นอยู่. บทว่า สนฺติเก น วิชานนฺติ มคฺคา ธมฺมสฺส อโกวิทา ความว่า พระนิพพานใดชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะผู้แสวงหากำหนดส่วนในผมหรือขนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งในร่างกายของตนเป็นอารมณ์ พึงบรรลุได้โดยลำดับ หรือเพราะแสวงหาความดับขันธ์ทั้งหลายของตน พระนิพพานนั้นนั่นแล แม้อยู่ใกล้ๆ เหล่าชนผู้แสวงหา ผู้ไม่ฉลาดในธรรม ก็ไม่รู้ซึ่งที่ใช่ทางและมิใช่ทาง หรือสัจจธรรมสี่. บทว่า มารเธยฺยานุปนฺเนภิ ได้แก่ ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นสถานที่อยู่ของมาร บทว่า โก นุ อญฺตฺรมริเยภิ ความว่า เว้นพระอริยะทั้งหลายเสีย คนอื่นใครเล่า ควรเพื่อจะรู้บท คือพระนิพพาน. บทว่า สมฺมทญฺาย ปรนิพฺพนฺติ ความว่า รู้โดยชอบด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยอรหัต ในลำดับนั่นแล เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมดับสนิท ด้วยกิเลสปรินิพพาน การดับกิเลส อีกนัยหนึ่งเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพราะรู้ชอบ ย่อมปรินิพพาน ด้วยขันธปรินิพพาน ดับขันธ์ในที่สุด.

จบ อรรถกถาปฐมรูปารามสูตรที่ ๓