พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ติตถิยสูตร ว่าด้วยทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ก.ย. 2564
หมายเลข  37250
อ่าน  385

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 284

๗. ติตถิยสูตร

ว่าด้วยทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 284

๗. ติตถิยสูตร

ว่าด้วยทุกข์

[๒๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม เพื่อประสงค์อะไร. พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกเขาอย่างนี้ว่า พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ก็ถ้าพวกเขาถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ก็ทุกข์ที่ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม เพื่อรู้นั้น เป็นไฉน พวกเธอพึงพยากรณ์แก่พวกเขาอย่างนี้ว่า พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์คือจักษุ ทุกข์คือรูป ทุกข์คือจักษุวิญญาณ ทุกข์คือจักษุสัมผัส ทุกข์คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์คือใจ ทุกข์คือธรรมารมณ์ ทุกข์คือมโนวิญญาณ ทุกข์คือมโนสัมผัส ทุกข์คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น อย่างนี้แล.

จบ ติตถิยสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 285

อรรถกถาอันเตวาสิกสูตรที่ ๖ เป็นต้น

ในอันเตวาสิกสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อนนฺเตวาสิกํ ได้แก่ เว้นจากกิเลสอันอยู่ในภายใน. บทว่า อนาจริยกํ ได้แก่ เว้นจากกิเลสอันมาจากภายนอก. บทว่า อนฺตสฺส วสนฺติ ได้แก่ ย่อมอยู่ในภายในของผู้นั้น. บทว่า เต นํ สมุทาจรนฺติ ความว่า อกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ท่วมทับ ผู้นั้น หรือให้ผู้นั้นสำเหนียก กิเลสเหล่านั้นชื่อว่า เป็นอาจารย์ของเขา ด้วยอรรถว่า อบรม กล่าวคือให้สำเหนียกดังนี้ว่า จงทำเวชกรรมอย่างนี้ จงทำทูตกรรมอย่างนี้. กิเลสเหล่านี้ ย่อมชื่อว่า เป็นอาจารย์ ดังนี้. อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้อันอาจารย์เหล่านั้นทำให้เลื่อมใส. คำที่เหลือในที่นี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. สูตรที่ ๗ มีนัยดังกล่าวแล้วแล.

จบ อรรถกถาอันเตวาสิกสูตรที่ ๖ - ๗