พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมสมุททสูตร ว่าด้วยสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ก.ย. 2564
หมายเลข  37328
อ่าน  651

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 338

สมุททวรรคที่ ๓

๑. ปฐมสมุททสูตร

ว่าด้วยสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 338

สมุททวรรคที่ ๓

๑. ปฐมสมุททสูตร

ว่าด้วยสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า

[๒๘๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทรๆ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นเรียกว่า เป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นเกิดจากรูป บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือจักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นเกิดจากธรรมารมณ์ บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธรรมารมณ์นั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือใจได้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก.

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๒๘๖] บุคคลใดข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ น่าหวาดกลัว ข้ามได้แสนยาก ได้แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่า เป็นผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ถึงฝั่งแล้ว.

จบ ปฐมสมุททสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 339

สมุททวรรคที่ ๓

อรรถกถาปฐมสมุททสูตรที่ ๑

ในสมุททวรรค ปฐมสมุททสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า จกฺขุํ ภิภฺขเว ปุริสสฺส สมุทฺโท ความว่า อารมณ์ชื่อว่า สมุทร เพราะอรรถว่า เต็มได้โดยยาก ก็ได้ หรือ เพราะอรรถว่า ตั้งขึ้น ก็ได้ จักษุนั่นแหละเป็นสมุทร. จริงอยู่ อารมณ์มีสีเขียวเป็นต้น ของจักษุนั้น รวมกันเข้าตั้งแต่พื้นปฐพี จนจดชั้นอกนิฏฐพรหมโลก ไม่สามารถจะทำให้เต็มที่ได้ อารมณ์ชื่อว่า สมุทร เพราะอรรถว่า เต็มได้ยาก ก็มีด้วยประการฉะนี้ ส่วนจักษุชื่อว่า เป็นสมุทร ในเพราะอารมณ์ทั้งหลาย มีสีเขียวเป็นต้นนั้นๆ อันภิกษุไม่สำรวมแล้ว ย่อมถึงความกล้าแข็งด้วยการดำเนินไปที่มีโทษ เพราะเป็นเหตุเกิดกิเลส เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สมุทร เพราะอรรถว่า ตั้งขึ้น ก็มี. บทว่า ตสฺส รูปมโย เวโค ความว่า กำลังเร็วแห่งสมุทรคือจักษุแม้นั้น สำเร็จมาแต่รูป หาประมาณมิได้ ด้วยอำนาจอารมณ์ ต่างด้วยอารมณ์มีสีเขียวเป็นต้น ที่มารวมกัน พึงทราบเหมือนกำลังเร็วอันสำเร็จมาแต่คลื่นของสมุทรอันหาประมาณมิได้. บทว่า โย ตํ รูปมยํ เวคํ สหติ ความว่า ผู้ใดไม่ทำกิเลสมีราคะเป็นต้นให้เกิดขึ้นอย่างนี้ คือราคะในอารมณ์ที่น่าพอใจ โทสะในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โมหะในอารมณ์ที่เป็นกลางๆ อดทนกำลังเร็วที่สำเร็จมาแต่รูป ซึ่งรวมลงในสมุทรนั้น โดยเป็นผู้วางเฉยเสีย.

ในบทว่า สอุมฺมิ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ชื่อว่า สอุมฺมิ เพราะคลื่น คือกิเลส. ชื่อว่า สาวัฏฏะ เพราะวังวน คือกิเลส ชื่อว่า สคาหะ เพราะสัตว์ร้ายผู้จับ คือกิเลส ชื่อว่า สรักขสะ เพราะผีร้าย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 340

คือกิเลส อนึ่งชื่อว่า สอุมฺมิ มีคลื่น ก็โดยอำนาจความโกรธและความคับแค้น. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า อุมฺมิภยนฺติ โข ภิกฺขเว โกธุปายาสสฺเสตํ อธิวจนํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า อุมฺมิภยํ ภัย คือคลื่นนี้แล เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น ชื่อว่า สาวัฏฏะ วังวนด้วยอำนาจกามคุณ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า อาวฏฺฏํ วา โหติ โข ภิกฺขเว ปญฺจนฺเนตํ กามคุณานํ อธิวจนํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า อาวฏฺฏํ นี้เป็นชื่อ กามคุณ ๕. ชื่อว่า สคาหะ ชื่อว่า สรักขสะ ด้วยอำนาจแห่งมาตุคาม. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่า สรกฺขโส นี้แลเป็นชื่อ มาตุคาม. แม้ในทวารที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สภยํ ทุตฺตรํ อจฺจตริ ความว่า ข้ามสมุทรที่มีภัย ด้วยภัย คือคลื่น ก้าวล่วงได้ยาก. บทว่า โลกนฺตคู ได้แก่ ถึงที่สุดแห่งสังขารโลก. บทว่า ปารคโตติ วุจฺจติ ความว่า ท่านเรียกว่า ถึงพระนิพพาน.

จบ อรรถกถาปฐมสมุททสูตรที่ ๑