พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ก.ย. 2564
หมายเลข  37341
อ่าน  414

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 357

๘. อาทิตตปริยายสูตร

ว่าด้วยอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 357

๘. อาทิตตปริยายสูตร

ว่าด้วยอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย

[๓๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรมปริยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธรรมปริยาย เป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อนไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูปอันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอันโสตวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะจะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 358

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นอันฆานวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรสอันชิวหาวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะอันกายวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลทำกาลกิริยาในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 359

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นหมันไร้ผล เป็นความงมงายของคนที่เป็นอยู่ คนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายหมู่ให้แตกกันได้ ก็ไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นความเป็นหมันอันนี้แลว่า เป็นอาทีนพของคนที่เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้.

[๓๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อนไฟติดลุกโพลงแล้ว จงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง โสตินทรีย์ที่บุคคลเกี่ยวด้วยขอเหล็กอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว จงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า โสตไม่เที่ยง สัททะเสียงไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว จงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ฆานะจมูกไม่เที่ยง คันธะกลิ่นไม่เที่ยง ฆานวิญญาณไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยง ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว จงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ชิวหาลิ้นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 360

ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยง กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหอกอันคมไฟติดลุกโพลงแล้ว จงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า กายไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยง ความหลับจงพักไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า มนะใจไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ แม้ในมโนสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่า อาทิตตปริยายและธรรมปริยาย ฉะนี้แล

จบ อาทิตตปริยายสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 361

อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๘

ในอาทิตตปริยายสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อนุพฺยญฺชโส นิมิตฺตคฺคาโห ความว่า ถือเอาโดยนิมิต โดยแยกถือเป็นส่วนๆ อย่างนี้ว่า มืองาม เท้างาม ดังนี้. ก็บทว่า นิมิตฺตคฺคาโห ได้แก่ รวมถือเอา. บทว่า อนุพฺยญฺชคฺคาโห ได้แก่ แยกถือเอา. การถือเอาโดยนิมิต ก็เช่นเดียวกับร่างจระเข้ ย่อถือเอาทั้งหมดทีเดียว. การถือเอาโดยอนุพยัญชนะ แยกถือเอาส่วนนั้นๆ บรรดาส่วนทั้งหลายมีมือและเท้าเป็นต้น. ก็การถือเอานิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้ ย่อมได้แม้ในชวนะวาระเดียว. ในชวนะวาระต่างๆ ไม่จำต้องกล่าวถึง.

บทว่า นิมิตฺตสฺสาเทคธิตํ ได้แก่ เจริญ คือติดพันด้วยความยินดีในนิมิต. บทว่า วิญฺาณํ ได้แก่ กรรมวิญญาณ. บทว่า ตสฺมิํ เจ สมเย กาลํ กเรยฺย ความว่า ใครๆ ที่ชื่อว่า กำลังกระทำกาละด้วยจิตอันเศร้าหมอง มีอยู่หามิได้ ด้วยว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมทำกาละด้วยภวังคจิต เท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงภัยแห่งกิเลส จึงตรัสอย่างนั้น อนึ่งพระองค์ตรัสอย่างนั้นด้วยอำนาจแห่งสมัย จริงอยู่ เมื่ออารมณ์มาปรากฏในจักขุทวาร ราคจิต จิตที่กำหนัด ทุฏฐจิต จิตขัดเคือง หรือมุฬหจิต จิตที่ลุ่มหลง ย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์ หยั่งลงสู่ภวังคจิตอยู่ในภวังคจิตแล้ว ย่อมกระทำกาลกิริยา ในสมัยนั้น บุคคลผู้ทำกาละ พึงหวังคติเป็นสอง คำนั้น ตรัสด้วยอำนาจสมัยอันนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 362

บทว่า อิมํ ขฺวาหํ ภิกฺขเว อาทีนวํ ความว่า เราพิจารณาเห็นทุกข์อันสัตว์พึงเสวยในนรกหลายแสนปีนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราประสงค์เอาการใช้ซี่เหล็กอันร้อนทะลวงนัยน์ตา. พึงทราบอรรถในบททั้งปวงโดยนัยนี้. บทว่า อโยสํกุนา ได้แก่ หลาวเหล็ก. บทว่า สมฺปลิมฏฺํ ความว่า โสตินทรีย์ ชื่อว่า อันภิกษุยอนแล้ว ด้วยอำนาจแทงช่องหูทั้ง ๒ แล้วตอกลงที่แผ่นดิน.

ในวาระที่ ๓ (ฆานินทรีย์) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า สมฺปลิมฏฺํ ความว่า (ฆานินทรีย์) อันภิกษุคว้านแล้ว โดยสอดมีดตัดเล็บเข้าไปแล้วงัดขึ้นให้หลุดตกไปพร้อมด้วยตั้งจมูก.

ในวาระที่ ๔ (ชิวหินทรีย์) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า สมฺปลิมฏฺํ ความว่า (ชิวหินทรีย์) อันภิกษุตัดแล้ว โดยตัดโคนลิ้นที่ต่อให้ตกไป.

ในวาระที่ ๕ (กายินทรีย์) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า สมฺปลิมฏฺํ ความว่า (กายินทรีย์) อันภิกษุแทงแล้ว โดยใช้มีดอันคมกริบชำแหละกายประสาทขึ้นแล้วให้ตกไป. ในบทว่า สตฺติยา นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีดมีด้ามเล่มใหญ่. บทว่า โสตฺตํ ได้แก่ นอนหลับ. ด้วยบทว่า ยถารูปานํ วิตกฺกานํ วสงฺคโต สงฺฆํ ภินฺเทยฺย ผู้ลุอำนาจวิตกเห็นปานใด พึงทำลายสงฆ์ นี้ พระองค์ทรงแสดงว่าวิตกทั้งหลายนำมาซึ่งบาปกรรมตลอดจนถึงสังฆเภท. คำที่เหลือในพระสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๘