พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. รถสูตร ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัส

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2564
หมายเลข  37372
อ่าน  459

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 394

๒. รถสูตร

ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 394

๒. รถสูตร

ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัส

[๓๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบัน และย่อมเป็นอันภิกษุนั้นปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน. คือภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ รู้ประมาณในโภชนะ ๑ ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 395

อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายสารถีฝึกม้าผู้ฉลาด เป็นอาจารย์ฝึกฝนม้า ขึ้นสู่รถอันเทียมม้าแล้วซึ่งมีแส้อันวางไว้แล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือแส้ด้วยมือขวา ขับไปทางหน้าก็ได้ ถอยกลับข้างหลังก็ได้ ในถนนใหญ่ ๔ แยก ซึ่งมีพื้นเรียบดี ตามความประสงค์ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมศึกษาเพื่อจะรักษา ศึกษาเพื่อจะสำรวม ศึกษาเพื่อจะฝึกฝน ศึกษาเพื่อจะระงับอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้แล.

[๓๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า เราไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่ง บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อให้เป็นไปได้ เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงทายาแผล ก็เพียงเพื่อต้องการให้เนื้อขึ้นมา หรือบุรุษพึงหยอดน้ำ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 396

มันเพลารถก็เพียงเพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า เราไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่งผิว บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อให้เป็นไปได้ เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล.

[๓๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ อย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดี ด้วยการเดิน การนั่งในเวลากลางวัน พอถึงกลางคืนตอนปฐมยาม ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดี ด้วยการเดิน การนั่ง ในตอนมัชฌิมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะทำไว้ในใจซึ่งอุฏฐานสัญญาคิดจะลุกขึ้น พอถึงปัจฉิมยามแห่งราตรี ก็ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดี ด้วยการเดิน การนั่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ ชื่อว่าย่อมมากด้วยความสุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบัน และย่อมเป็นอันปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย.

จบ รถสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 397

อรรถกถารถสูตรที่ ๒

ในรถสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สุขโสมนสฺสพหุโล ความว่า ภิกษุชื่อว่าผู้มากด้วยสุขและโสมนัส เพราะภิกษุนั้นมีสุขทางกาย และมีสุขทางใจมาก. บทว่า โยนิ จสฺส อารทฺธา โหติ ความว่า และเหตุของภิกษุนั้นบริบูรณ์. ในบท อาสวานํ ขยา นี้ ท่านประสงค์เอาพระอรหัตตมรรคว่าอาสวักขัย. อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตนั้น. บทว่า โอธตปโทโต ได้แก่ แส้ที่วางขวางไว้กลางรถ บทว่า เยนิจฺฉกํ ได้แก่ ปรารถนาไปทางทิศใด บทว่า ยทิจฺฉกํ ได้แก่ ปรารถนาการไปใดๆ. บทว่า สาเรยฺย แปลว่า พึงส่งไป วิ่งไปข้างหน้า บทว่า ปจฺจาสาเรยฺย แปลว่า พึงวิ่งกลับ (ถอยหลัง) บทว่า อารกฺขาย แปลว่า เพื่อประโยชน์แก่อันรักษา. บทว่า สญฺมาย ได้แก่ เพื่อห้ามความสลดใจ. บทว่า ทมาย ได้แก่ เพื่อหมดพยศ. บทว่า อุปสมาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การเข้าไปสงบกิเลส.

ในบทว่า เอวเมวโข มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. เหมือนอย่างว่า เมื่อนายสารถีผู้ไม่ฉลาด เทียมม้าสินธพที่ไม่ได้ฝึก ขับรถไปตามทางขรุขระ (ไม่สม่ำเสมอ) แม้ล้อก็ย่อมแตก แม้เพลา และกีบของม้าสินธพ ก็ถึงความย่อยยับกับทั้งตนเอง และไม่สามารถจะให้แล่นไปได้ตามทางไปตามที่ต้องการได้ ฉันใด ภิกษุผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ๖ ก็ฉันนั้น ไม่สามารถเสวยความยินดีในความสงบตามที่ต้องการได้. ส่วนนายสารถีผู้ฉลาด เทียมม้าสินธพที่ฝึกแล้ว ให้รถแล่นในพื้นที่เรียบ จับเชือก ตั้งสติไว้ที่กีบม้าสินธพทั้งหลาย ถือแส้จับให้หมดพยศขับไป ให้มันวิ่งไปตามทางไปที่ตนต้องการๆ ฉันใด ภิกษุผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้ง ๖ ก็ฉันนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 398

ย่อมเสวยความยินดีในความสงบ ตามที่ตนต้องการๆ ในพระศาสนานี้. ถ้าภิกษุเป็นผู้ประสงค์จะส่งญาณมุ่งตรงต่ออนิจจานุปัสสนาไซร้ ญาณก็ไปตรงทางอนิจจานุปัสสนานั้น แม้ในทุกขานุปัสสนา ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า โภชเน มตฺตญฺญู แปลว่า รู้จักประมาณในโภชนะ. ในบทว่า รู้จักประมาณ นั้น ประมาณมี ๒ อย่าง คือประมาณในการรับ และประมาณในการบริโภค. ใน ๒ อย่างนั้น ประมาณในการรับ พึงทราบโดยสามารถของทายก พึงทราบโดยสามารถของไทยธรรม พึงทราบโดยกำลังของตน. จริงอยู่ ภิกษุเห็นปานนี้ ถ้าไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะให้น้อย ย่อมรับแต่น้อย ไทยธรรมมีน้อย ทายกประสงค์จะให้มาก ก็รับแต่น้อย ด้วยอำนาจไทยธรรม ทั้งไทยธรรมก็มีมาก ทั้งทายกก็ประสงค์จะให้มาก ย่อมรู้กำลังของตน รับโดยประมาณ ภิกษุนั้นย่อมทำลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง เพราะความที่ตนเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับนั้น เหมือนสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบ ในรัชสมัยแห่งพระเจ้าติสสมหาราชผู้ทรงธรรม.

ได้ยินว่า ราชบุรุษทั้งหลายขนงบน้ำอ้อยมา ๕๐๐ เล่มเกวียน ถวายแด่พระราชา. พระราชาทรงพระดำริว่า เครื่องบรรณาการน่าชอบใจ ไม่ถวายพระผู้เป็นเจ้าก่อน เราจักไม่กิน จึงส่งเกวียน ๒๕๐ เล่ม ไปยังมหาวิหาร ฝ่ายพระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วก็เสด็จไป. เมื่อเขาตีกลอง ภิกษุ ๑๒,๐๐๐ รูปประชุมกัน พระราชาประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง รับสั่งได้เรียกคนวัดมาตรัสว่า ในการถวายทานของพระราชา ถวายองค์ละประมาณเต็มบาตรหนึ่ง บรรจุเต็มภาชนะที่ถือมาแล้วจงบอก ถ้าองค์ไรๆ มั่นอยู่ในการรับพอประมาณ ก็จะไม่รับ ก็พึงบอกแก่เรา.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 399

ลำดับนั้น พระมหาเถระรูปหนึ่ง ประสงค์จะไหว้ต้นพระมหาโพธิ์พระมหาเจดีย์ ก็มาจากเจติยบรรพตเข้าไปยังวิหาร เห็นพวกภิกษุถืองบน้ำอ้อย ณ ที่มณฑปใหญ่ จึงกล่าวกะสามเณรผู้ตามมาข้างหลังว่า เธอไม่ต้องการงบน้ำอ้อยหรือ. สามเณรตอบว่า ขอรับกระผมไม่ต้องการ. (พระเถระ) พ่อสามเณร พวกเราเดินทางมาลำบาก ต้องการอาหารเพียงผลมะขวิดสักผลหนึ่ง. สามเณรจึงนำภาชนะออกมา แล้วได้วางเรียงไว้ตามลำดับพรรษาของพระเถระ. คนวัดบรรจุเต็มภาชนะที่พอรับ แล้วยกขึ้น. สามเณรกระดิกนิ้ว. คนวัดกล่าวว่า พ่อสามเณร ในทานของราชสกุลกำหนดถวายเต็มภาชนะทั้งนั้น โปรดรับภาชนะที่เต็มเถิด. สามเณรกล่าวว่า อย่างนั้นอุบาสก ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีพระราชอัธยาศัยใหญ่ พระอุปัชฌาย์ของพวกอาตมาต้องการเพียงเท่านี้แหละ. พระราชาทรงฟังถ้อยคำของคนวัดนั้นแล้ว ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ สามเณรพูดอะไร จึงเสด็จมายังสำนักของสามเณร คนวัดทูลว่า ภาชนะของสามเณรเล็กมาก. พระราชาตรัสว่า ท่านบรรจุเต็มภาชนะที่ท่านนำมารับไว้เถิดพ่อสามเณร สามเณรทูลว่า มหาบพิตร ธรรมดาว่าพระราชาทั้งหลายมีพระราชอัธยาศัยใหญ่ และมีพระราชประสงค์จะบรรจุเต็มภาชนะที่ยกขึ้นแล้ว จึงถวาย แต่อุปัชฌาย์ของอาตมภาพ ต้องการของมีประมาณเท่านี้แหละ พระราชาทรงพระดำริว่า สามเณรนี้ มีอายุ ๗ ขวบ แม้แต่ปากของเธอก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เธอยังไม่กล่าวว่าเราจะรับเต็มหม้อหรือตุ่ม แล้วจักฉันทั้งในวันนี้ทั้งในวันพรุ่งนี้ ใครๆ ไม่สามารถที่จะรักษาพระศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ได้ จึงทรงสั่งราชบุรุษทั้งหลายว่า ท่านผู้เจริญ เราเลื่อมใสสามเณรจริงๆ พวกท่านจงนำเกวียนบรรทุกงบน้ำอ้อย ๒๕๐ เล่มมาอีก แล้วถวายแก่สงฆ์.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 400

ก็พระราชานั้นนั่นแล วันหนึ่งมีพระราชประสงค์จะเสวยเนื้อนกกระทา จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราประสงค์จะบริโภคเนื้อนกกระทาปิ้งไฟ จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจักบอกแก่คนอื่นว่าเราอยากกินเนื้อนกกระทาปิ้งไฟ คนทั้งหลายก็จักกระทำฆ่านกกระทาในที่รอบๆ โยชน์หนึ่ง จึงทรงอดกลั้นบ่วงมาร แม้ที่เกิดขึ้นแล้วทรงยับยั้งถึง ๓ ปี. ต่อมาพระราชานั้นเกิดเป็นน้ำหนวก. ท้าวเธอเมื่อไม่อาจจะอดกลั้นได้ จึงตรัสถามว่า ใครๆ ที่เป็นอุบาสกผู้อุปัฏฐากเราเป็นคนรักษาศีลมีอยู่บ้างไหม. ราชบุรุษเหล่านั้นทูลว่า เทวะ มีอยู่พระเจ้าข้า เขาชื่อว่า ติสสะ รักษาศีลไม่ขาด. ลำดับนั้น พระราชาประสงค์จะทดลองอุบาสกนั้น จึงรับสั่งให้เรียกตัวมา. อุบาสกนั้น ก็มาเฝ้ายืนถวายบังคมพระราชา. ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะอุบาสกนั้นว่า แน่พ่อ ท่านชื่อติสสะหรือ อุบาสกทูลรับว่า พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปได้. เมื่ออุบาสกนั้นไปแล้ว พระราชารับสั่งให้นำไก่มาตัวหนึ่ง แล้วตรัสสั่งราชบุรุษผู้หนึ่งว่า เจ้าจงไปบอกกะติสสะว่า เธอจงปิ้งไก่ให้สุก ๓ เวลา และจงให้ปรนนิบัติเรา. ราชบุรุษนั้นได้ไปบอกอย่างนั้น. อุบาสกนั้นกล่าวว่า ผู้เจริญ ถ้าไก่ตัวนี้พึงเป็นไก่ตายแล้วไซร้ เราจะพึงปิ้งตามที่เรารู้ และปรนนิบัติ ความจริง เราไม่ทำปาณาติบาต ราชบุรุษนั้นได้ไปทูลแด่พระราชา.

พระราชาทรงส่งไปสั่งว่า เธอจงไปอีกครั้ง เขาไปบอกว่า ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่า การปรนนิบัติพระราชา เป็นภาระหนัก ท่านอย่าทำอย่างนี้ ศีลท่านสามารถจะสมาทานได้อีก จงปิ้งไก่นั้นเถิด ลำดับนั้น ติสสะ ได้กล่าวกะบุรุษนั้นว่า ผู้เจริญธรรมดาว่าในอัตภาพหนึ่ง ความตายมี

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 401

หนเดียวแน่นอน เราจักไม่ทำปาณาติบาต ราชบุรุษนั้นได้กราบทูลแด่พระราชาอีกครั้ง. พระราชาส่งไปเป็นครั้งที่ ๓ แล้วรับสั่งให้เรียกอุบาสกผู้ไม่รับมาตรัสถามด้วยพระองค์เอง. อุบาสกก็ถวายคำตอบแม้แก่พระราชาเหมือนอย่างนั้น. ลำดับนั้น พระราชาสั่งราชบุรุษทั้งหลายว่า คนผู้นี้ขัดพระราชโองการ พวกเจ้าจงไป จงวางมันไว้ในซองสำหรับฆ่าคน แล้วจงตัดศีรษะเสีย แต่ได้ประทานสัญญาในที่ลับแก่ราชบุรุษเหล่านั้นว่า พวกเจ้าขู่อุบาสกนี้นำไปวางศีรษะของมันไว้ในซองสำหรับฆ่าคน แล้วมาบอกเรา. ราชบุรุษเหล่านั้น ให้อุบาสกนั้นนอนในซองสำหรับฆ่าคน แล้ววางไก่ตัวนั้นไว้ในมือของเขา อุบาสกนั้นวางไก่นั้นไว้ตรงหัวใจแล้วพูดว่า พ่อเอ๋ย ข้าให้ชีวิตของข้าแทนเจ้า ข้าจะคงชีวิตของเจ้าไว้ เจ้าจงปลอดภัย ไปเถิด ดังนี้แล้วก็ปล่อยไก่ไป ไก่ปรบปีก แล้วก็บินไปทางอากาศแอบอยู่ที่ต้นไทรย้อย สถานที่ๆ อุบาสกให้อภัยแก่ไก่นั้น ชื่อว่า กุกกุฏคีรี.

พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว รับสั่งให้เรียกอุบาสกบุตรอำมาตย์มา ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง ตรัสว่า พ่อเอย เราทดลองเจ้าเพื่อประโยชน์นี้เอง เมื่อเราประสงค์จะกินเนื้อนกกระทาล่วงไปถึง ๓ ปี เจ้าจักอาจกระทำเนื้อให้บริสุทธิ์โดยส่วนสาม แล้วปรนนิบัติเราได้หรือไม่ บุตรอำมาตย์ทูลว่า เทวะ ขึ้นชื่อว่า กรรมนี้เป็นกรรมของข้าพระองค์เอง ดังนี้แล้ว ออกไปยืนอยู่ที่ระหว่างประตู เห็นบุรุษคนหนึ่ง ถือเอานกกระทา ๓ ตัวเข้าไปแต่เช้าตรู่ ให้ทรัพย์ ๒ กหาปณะ ซื้อเอานกกระทา ชำระให้สะอาด แล้วอบด้วยผักชีเป็นต้น ปิ้งให้สุกดีที่ถ่านไฟ แล้วปรนนิบัติแก่พระราชา. พระราชาประทับนั่งบนบัลลังก์ (พระแท่น) อันมีพื้นใหญ่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 402

ถือเอานกกระทาตัวหนึ่ง ตัดหน่อยหนึ่งแล้วใส่เข้าในพระโอษฐ์. ทันใดนั้นเอง เนื้อนกกระทาได้แผ่ซ่านตลอดเส้นประสาทเครื่องรับรส ๑๗,๐๐๐ ของพระราชานั้น. ในสมัยนั้น พระราชาทรงระลึกถึงภิกษุสงฆ์ ทรงพระดำริว่า ราชาผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเช่นเรา ประสงค์จะกินเนื้อนกกระทา ยังไม่ได้ถึง ๓ ปี ภิกษุสงฆ์ผู้ไม่ประมาท จักได้แต่ที่ไหน. จึงทรงคายเนื้อชิ้นที่ใส่เข้าในพระโอษฐ์ลงที่พื้น บุตรอำมาตย์คุกเข่าเอาปากรับ. พระราชาตรัสว่า หลีกไปเสียพ่อ เรารู้ว่าท่านไม่มีความผิด ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงทิ้งก้อนเนื้อนี้ แล้วจึงตรัสว่า ท่านจงเก็บงำเนื้อนกกระทาที่เหลือไว้อย่างนั้นนั่นแล.

วันรุ่งขึ้น พระเถระผู้เป็นราชกุลุปกะ (ประจำราชสกุล) เข้าไปบิณฑบาต. บุตรอำมาตย์เห็นท่านเข้า จึงรับบาตร ให้เข้าไปในกรุงราชคฤห์. ภิกษุบวชเมื่อแก่แม้รูปหนึ่งติดตามเข้าไป เหมือนปัจฉาสมณะของพระเถระ พระเถระสำคัญผิดว่า เป็นภิกษุที่พระราชารับสั่งให้เฝ้า แม้บุตรแห่งอำมาตย์ก็สำคัญผิดไปว่า เป็นอุปัฏฐากของพระเถระ. พวกเจ้าหน้าที่ให้ท่านนั่งแล้ว ถวายข้าวยาคูแก่ท่านทั้งสองนั้น. เมื่อท่านดื่มข้าวยาคูแล้ว พระราชาได้น้อมนกกระทาเข้าไปถวาย. แม้พระเถระก็รับตัวหนึ่ง. ฝ่ายอีกรูปหนึ่งก็รับตัวหนึ่ง. พระราชาทรงพระดำริว่า ยังมีส่วนน้อยอยู่ส่วนหนึ่ง การไม่บอกเล่าเสียก่อนแล้วเคี้ยวกิน ไม่สมควร ดังนี้แล้ว จึงบอกเล่าพระเถระ. พระเถระหดมือ. พระเถระแก่ยื่นมือรับ. พระราชาก็ไม่พอพระทัย จึงรับเอาบาตร แล้วตามส่งพระเถระผู้เสร็จภัตตกิจไป ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ การที่ท่านมาสู่เรือนตระกูล พาภิกษุแม้ผู้ศึกษาวัตรแล้วมา จึงควร ขณะนั้น พระเถระรู้ว่าภิกษุรูปนี้ พระราชามิได้รับสั่งให้เฝ้า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 403

วันรุ่งขึ้นจึงพาสามเณรผู้อุปัฏฐากเข้าไป. พระราชา เมื่อท่านดื่มยาคูแล้ว แม้ในเวลานั้น ก็น้อมนกกระทาเข้าไป พระเถระได้รับส่วนหนึ่ง. สามเณรสั่นนิ้วมือ ให้ตัดตรงกลาง รับไว้ส่วนหนึ่งเท่านั้น. พระราชาน้อมส่วนนั้นเข้าไปถวายพระเถระ พระเถระหดมือ. ฝ่ายสามเณรก็หดมือ. พระราชาประทับนั่ง ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเสวย ตรัสว่า เราอาศัยภิกษุผู้ศึกษาวัตรมาแล้ว จึงได้กินนกกระทาหนึ่งส่วนครึ่ง. พอเสวยเนื้อนกกระทานั้นเท่านั้น น้ำหนวกก็ไหลออกจากพระกรรณทั้งสองข้าง แต่นั้นก็บ้วนพระโอษฐ์แล้วเข้าไปหาสามเณร ตรัสว่า พ่อสามเณร โยมเลื่อมใสจริงๆ โยมจะถวายธุวภัตตาหารประจำทั้ง ๘ อย่างแด่พ่อสามเณร. สามเณรทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายแด่พระอุปัชฌาย์. พระราชาตรัสว่า โยมจะถวายธุวภัตอีก ๘. สามเณรทูลว่า อาตมภาพจะถวายภัตเหล่านั้นแด่พระเถระปูนอุปัชฌาย์. พระราชาตรัสว่า จะถวายอีก ๘. สามเณรทูลว่า อาตมภาพจะถวายแด่ภิกษุสงฆ์. พระราชาตรัสว่าจะถวายอีก ๘. สามเณรก็ทูลรับ.

ภิกษุเมื่อรู้จักประมาณในการรับอย่างนี้ จึงทำลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง. นี้ชื่อว่า ประมาณในการรับ.

ก็การที่ภิกษุคิดว่า เราจะบริโภคโภชนะที่มีอยู่แล้ว บริโภคปัจจัยตามที่พิจารณาแล้ว ชื่อว่า ประมาณในการบริโภค. ประมาณในการบริโภคนั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้ ด้วยเหตุนั้น นั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ดังนี้เป็นต้น. ประมาณในการบริโภคแม้นอกนี้ ก็ควรเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 404

ในบทว่า สีหเสยฺยํ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ชื่อว่า การนอนมี ๔ อย่าง การนอนของผู้บริโภคกาม ๑ การนอนของเปรต ๑ การนอนของสีหะ ๑ การนอนของพระตถาคต ๑ ในการนอน ๔ อย่างนั้น การนอนที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้บริโภคกาม โดยมากย่อมนอนตะแคงซ้าย นี้ชื่อว่า การนอนของผู้บริโภคกาม. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า การนอนโดยตะแคงข้างขวาของสัตว์ผู้บริโภคกามเหล่านั้น โดยมากไม่มี. การนอนที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โดยมากพวกเปรต ย่อมนอนหงาย นี้ชื่อว่า การนอนของเปรต จริงอยู่ พวกเปรต ชื่อว่า มีร่างกระดูกพันกันยุ่ง เพราะมีเนื้อเลือดน้อย ไม่สามารถจะนอนตะแคงได้ จึงนอนหงายเท่านั้น.

การนอนที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสีหมฤคราช สอดหางเข้าไปตามหว่างขา นอนตะแคงข้างขวา แม้นี้ก็ชื่อว่า การนอนของสีหะ จริงอยู่ สีหราชาแห่งมฤค เพราะตัวมีอำนาจมาก จึงวางเท้าหน้าทั้ง ๒ ไว้ข้างหนึ่ง เท้าหลังทั้ง ๒ ไว้ข้างหนึ่ง แล้วสอดหางเข้าไปในหว่างขา กำหนดโอกาสที่ตั้งของเท้าหน้า เท้าหลังและหาง แล้วนอนวางศีรษะไว้เหนือเท้าหน้าทั้ง ๒. แม้นอนทั้งวันเมื่อตื่นก็ไม่สะดุ้งตื่น. ชะเง้อศีรษะ กำหนดโอกาสที่เท้าหน้าเป็นต้นตั้งอยู่. ถ้าอะไรๆ ละเคลื่อนที่ไป ก็จะเสียใจว่า ข้อนี้ไม่ควรแก่ชาติและแก่ความแกล้วกล้าของท่าน จึงนอนลงเสียในที่นั้นนั่นแลอีก ไม่ออกไปหาเหยื่อ. แต่เมื่อไม่ละ ตั้งคงที่อยู่ มันก็ร่าเริง ยินดีว่านี้สมควรแก่ชาติและแก่ความแกล้วกล้าของท่าน ลุกขึ้นสะบัดกาย สะบัดสร้อยคอ แผดสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกไปหาเหยื่อ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 405

ส่วนการนอนในจตุตถฌาน ท่านเรียกว่า การนอนของพระตถาคต. ก็ในการนอนเหล่านั้น การนอนของสีหะมาแล้วในสูตรนี้. ก็การนอนของสีหะนี้ เป็นการนอนอย่างสูงสุด เพราะเป็นอิริยาบถของสัตว์ผู้มีอำนาจมาก.

บทว่า ปาเทน ปาทํ ได้แก่ เท้าซ้ายทับเท้าขวา. บทว่า อจฺจาธาย แปลว่า เหลื่อมกัน คือวางเลยไปหน่อยหนึ่ง. จริงอยู่ เมื่อข้อเท้ากับข้อเท้า หรือเข่ากับเข่าขบกัน เวทนาก็เกิดเนืองๆ จิตย่อมไม่มีอารมณ์เป็นอันเดียว นอนก็ไม่ผาสุก. แต่เมื่อวางให้เหลื่อมกัน โดยอาการที่มันไม่ขบกัน เวทนาก็ไม่เกิด จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียว นอนก็ผาสุก เพราะฉะนั้น ราชสีห์จึงนอนอย่างนี้.

บทว่า สโต สมฺปชาโน ความว่า ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ ถามว่า นอนอย่างไรชื่อเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ แก้ว่า เพราะไม่ละสติและสัมปชัญญะ จริงอยู่ ภิกษุนี้ชำระจิตให้หมดจดจากธรรมเป็นเครื่องกั้นตลอดวันตลอดยามทั้งสิ้น ลงจากที่จงกรมที่สุดแห่งปฐมยาม แม้ล้างเท้า ก็ไม่ละมูลกรรมฐานเลย. ไม่ละมูลกรรมฐานนั้น เปิดประตู นั่งบนเตียง ลงนอนก็ไม่ละ เมื่อตื่นก็ยังถือกรรมฐานแล้วตื่น ชื่อว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ แม้เมื่อลงนอนหลับอย่างนี้. แต่พระอาจารย์ทั้งหลายไม่บอกความข้อนั้นว่า เป็นญาณธาตุ.

ก็ภิกษุนั้น ครั้นชำระจิตให้หมดจดโดยนัยดังกล่าวแล้ว ที่สุดแห่งปฐมยาม คิดว่า เราจะพักผ่อนสรีระที่มีใจครอง ด้วยการหลับนอน แล้วลงจากที่จงกรม ไม่ละมูลกรรมฐานเลย ล้างเท้า เปิดประตู นั่งบนเตียง ไม่ละมูลกรรมฐาน คิดว่า ขันธ์นั้นแลขัดกันในขันธ์ ธาตุนั้นแล

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 406

ขัดกันในธาตุ ดังนี้แล้ว พิจารณาเสนาสนะ ไม่จงกรมหลับ เมื่อตื่นก็ถือมูลกรรมฐานไว้แล้วตื่น. เมื่อหลับด้วยอาการอย่างนี้ พึงทราบว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ.

ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิปัสสนาอันส่วนเบื้องต้น อันมีองค์ ๓ ด้วยประการฉะนี้. ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ภิกษุยังไม่ถึงที่สุด ก็ชุมนุมอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ เหล่านั้นนั่นแล เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต. พึงกล่าวเทศนาจนถึงพระอรหัต ดังกล่าวมา.

จบ อรรถกถารถสูตรที่ ๒