พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ปฐมทารุขันธสูตร ว่าด้วยอุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์กับท่อนไม้ลอยน้ํา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2564
หมายเลข  37374
อ่าน  1,160

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 409

๔. ปฐมทารุขันธสูตร

ว่าด้วยอุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์กับท่อนไม้ลอยน้ำ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 409

๔. ปฐมทารุขันธสูตร

ว่าด้วยอุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์กับท่อนไม้ลอยน้ำ

[๓๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งอันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๓๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้ได้แก่อะไร ฝั่งโน้นได้แก่อะไร การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร การเกยบกได้แก่อะไร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 410

มนุษย์ผู้จับคืออะไร อมนุษย์ผู้จับคืออะไร เกลียวน้ำวนๆ ไว้คืออะไร ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ คำว่าฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ คำว่าจมในท่ามกลาง เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่าเกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ ดูก่อนภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่ามนุษย์ผู้จับ ดูก่อนภิกษุ อมนุษย์จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าอมนุษย์ผู้จับ ดูก่อนภิกษุ คำว่าเกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ดูก่อนภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามกไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าในภายใน.

[๓๒๔] ก็โดยสมัยนั้นแล นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้นแล นายนันทโคบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 411

ใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูกอมนุษย์จับ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนันทะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงมอบโคให้เจ้าของเขาเถิด.

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคที่ติดลูกจักไปเอง.

พ. ท่านจงมอบโคให้แก่เจ้าของเถิด นันทะ.

ครั้งนั้นแล นายนันทโคบาลมอบโคให้แก่เจ้าของแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มอบโคให้เจ้าของแล้ว ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นายนันทโคบาลได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แลท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบ ปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 412

อรรถกถาปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔

ในปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อทฺทสา ความว่า ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาจัดไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว. บทว่า วุยฺหมานํ ได้แก่ ท่อนไม้ที่เขาถากเป็น ๔ เหลี่ยมแล้ว กองไว้ระหว่างเขา แห้งสนิทดีเพราะลมและแดด เมื่อเมฆฝนตกชุกก็ลอยขึ้นตามน้ำ ตกไปในกระแสแม่น้ำคงคาตามลำดับ ลอยไหลไปตามกระแสน้ำนั้น. บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เราจักแสดงกุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของเรา กระทำให้เหมือนท่อนไม้นี้ ดังนี้แล้วจึงตรัสเรียกมา เพราะทรงประสงค์จะทรงแสดงธรรม. อนึ่ง เพราะนอกจากโทษ ๘ ประการของท่อนไม้ที่ลอยไปตามกระแสน้ำ เพื่อจะทรงแสดงโทษอีก ๘ ประการอันจะกระทำอันตรายแก่ท่อนไม้ที่ลอยไปสู่สมุทร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มพระดำรัสนี้ว่า อมุํ มหนฺตํ ทารุกฺขนฺธํ คงฺคาย นทิยา โสเตน วุยฺหมานํ ดังนี้.

จริงอยู่ ต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดที่พื้นภูเขาไม่ไกลแม่น้ำคงคา ถูกเถาวัลย์ต่างๆ พันไว้มีใบเหลือง ถูกปลวกเป็นต้นกัดกิน ก็ถึงความไม่มีบัญญัติ (ตาย) ในที่นั้นนั่นเอง ท่อนไม้นี้ลงสู่แม่น้ำคงคาแล้ว งดงามอยู่ในวังวน ถึงสาครแล้ว ย่อมไม่ได้เพื่อจะงดงาม บนหลังคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณี.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 413

ต้นไม้อีกต้นหนึ่งมีรากอยู่ภายนอกมีกิ่งอยู่ภายในฝั่งแม่น้ำคงคา ต้นไม้นี้ถูกน้ำ โดยกิ่งที่ห้อยย้อยลงมาบางครั้งบางคราวก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะมันมีรากอยู่ภายนอกแม่น้ำคงคา ลงสู่แม่น้ำคงคาแล้ว งดงามอยู่ในวังวน ถึงสาครแล้ว ย่อมไม่ได้เพื่อจะงดงามบนหลังคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณี.

อีกต้นหนึ่งเกิดกลางแม่น้ำคงคาแต่ยืนต้นอยู่ดีเพราะรากมั่นคงและกิ่งคดของมันยื่นไปนอกต้น ถูกเถาวัลย์ต่างๆ เกี่ยวพันไว้. แม้ต้นไม้นี้ก็ลงสู่แม่น้ำคงคา ฯลฯ ไม่ได้งดงาม เพราะมีรากมั่นคงและมีเถาวัลย์เกี่ยวพันไว้ข้างนอก.

อีกต้นหนึ่งถูกทรายคลุมทับไว้ในที่ๆ มันล้มลงนั่นแล ก็เน่า ฯลฯ ต้นไม้แม้นี้ก็ลงสู่แม่น้ำคงคา ฯลฯ ก็ไม่งาม.

อีกต้นหนึ่ง ยืนต้นอยู่อย่างแน่นสนิทเหมือนฝังไว้ดี เพราะเกิดในระหว่างแผ่นหิน ๒ แผ่น น้ำคงคาที่ไหลมาถึงได้แยกเป็น ๒. ต้นไม้นี้เพราะอยู่ด้วยดีในระหว่างแผ่นหินลงสู่แม่น้ำคงคา ฯลฯ ก็ไม่งาม.

อีกต้นหนึ่งยังท้องฟ้าให้เต็มในที่กลางแจ้งถูกเถาวัลย์เกี่ยวพันยืนต้นอยู่ เปียกน้ำ ๑ - ๒ ครั้ง ในห้วงน้ำใหญ่ที่หลากมาถึงเกิน ๑- ๒ ปี แม้ต้นไม้นี้เพราะมันยืนต้นระท้องฟ้าและเพราะเปียกอยู่ ๑ - ๒ ครั้ง โดยล่วงไป ๑ - ๒ ปี ลงสู่แม่น้ำคงคา ฯลฯ ก็ไม่งาม.

แม้อีกต้นหนึ่งเกิดบนเกาะน้อยกลางแม่น้ำคงคามีลำต้นและกิ่งอ่อน เมื่อโอฆะห้วงน้ำหลากมาก็ล้มลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่อน้ำไหลถึงก็ชูยอดขึ้นเหมือนฟ้อนรำได้. เพื่อประโยชน์ไรเล่า สาครเหมือนกล่าวกะแม่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 414

คงคาว่า ดูก่อนท่านคงคา ท่านนำมาแต่ไม้ต่างๆ มีไม้แก่นจันทน์ และไม้แก่นมีหนามเป็นต้น แต่ไม่นำท่อนไม้มา. แม่น้ำคงคากล่าวว่า ข้าแต่เทวะ นั่นเป็นการดีแล้วละ ข้าก็จักรู้อีกครั้งแล้วไหลมาเหมือนสวมกอดด้วยน้ำสีแดงอีกครั้ง. ต้นไม้แม้นั้น ก็ลอยไปตามกระแสน้ำเหมือนอย่างนั้นแล เมื่อน้ำผ่านมาถึง ก็ชูยอดขึ้นเหมือนรำฟ้อนฉะนั้น. ต้นไม้นี้ลงสู่แม่น้ำ คงคา เพราะยังเป็นไม้อ่อน ฯลฯ ก็ไม่งาม.

อีกต้นหนึ่งล้มลงขวางแม่น้ำคงคาถูกทรายคลุมทับไว้เป็นที่อาศัยของคนเป็นอันมาก เหมือนสะพานทอดอยู่ในระหว่างฉะนั้น. ไม้ไผ่ ไม้อ้อ ไม้กุ่มบกและไม้กุ่มน้ำเป็นต้น ที่ฝั่งทั้ง ๒ ลอยมาติดอยู่ที่ต้นไม้นั้นนั่นแล กอไม้ต่างๆ ก็ลอยมาอย่างนั้น ทั้งสากแตก กระด้งขาด ซากงู ลูกสุนัข และช้าง ม้าเป็นต้น ก็ติดอยู่ที่นั้นเหมือนกัน. แม่น้ำคงคาใหญ่กระทบสิ่งนั้นแล้วก็แยกเป็น ๒ สาย ทั้งปลา เต่า จระเข้ และมังกรเป็นต้น ก็อยู่ในที่นั้นนั่นแล แม้ต้นที่ไม้นี้ล้มขวางแม่น้ำคงคา โดยภาวะที่ทำให้เป็นที่อาศัยของมหาชน เมื่องอกงามอยู่ในที่อันเป็นวังวน ถึงสาครก็ไม่งาม บนหลังคลื่นอันมีสีดังแก้วมณี.

ดังนั้น เพื่อจะทรงแสดงโทษอีก ๘ ประการ อันกระทำอันตรายแก่การถึงสมุทรแห่งท่อนไม้ที่ไปตามกระแสน้ำ เพราะนอกจากโทษ ๘ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ท่อนไม้ใหญ่ ท่อนโน้น ถูกกระแสน้ำคงคาพัดไปอยู่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ถเล อุสฺสาทิสฺสติ ได้แก่ จักไม่ขึ้นบก. บทว่า น มนุสฺสคฺคาโห คเหสฺสติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายเห็นว่าต้นไม้นี้ใหญ่หนอ จึงข้ามน้ำไปด้วยแพ ไม่ยึดถือเอา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 415

เพื่อประโยชน์จะทำเป็นไม้กลอนเป็นต้น. บทว่า น อมนุสฺสคฺคาโห คเหสฺสติ ความว่า อมนุษย์ทั้งหลายสำคัญว่า ไม้แก่นจันทน์นี้มีค่ามาก พวกเราจักพักไว้ทางประตูวิมาน แต่ก็ไม่ถือเอา.

ในคำว่า เอวเมวโข นี้ พึงทราบการเทียบเคียงข้ออุปมา พร้อมกับทั้งโทษภายนอก ๘ ประการอย่างนี้. จริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิมีอาทิว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล พึงทราบเหมือนท่อนไม้เกิดที่พื้นภูเขา ไกลแม่น้ำคงคา ถูกปลวกเป็นต้นกัดกิน ถึงความหาบัญญัติมิได้ในที่นั้นนั่นแล. จริงอยู่ บุคคลนี้ลงสู่อริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ก็ไม่อาจไปถึงสาครคือพระนิพพาน เพราะไกลพระศาสนา.

บุคคลผู้เป็นสมณกุฎุมพี ยังตัดความผูกพันทางคฤหัสถ์ไม่ขาด พึงเห็นเหมือนต้นไม้ที่มีรากอยู่ภายนอก มีกิ่งอยู่ภายใน เกิดที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา. จริงอยู่ บุคคลนี้คิดว่า ธรรมดาจิตนี้ไม่ต่อเนื่องกัน เมื่อกล่าวว่าเราเป็นสมณะ แต่ก็เป็นคฤหัสถ์ เมื่อกล่าวว่าเราเป็นคฤหัสถ์ แต่ก็เป็นสมณะ ใครจักรู้ว่า เราจะเป็นอย่างไร แม้เมื่อบวชในเวลาแก่ ก็ไม่สละความเกี่ยวพันทางคฤหัสถ์ และชื่อว่า สมบัติของผู้บวชในเวลาแก่ย่อมไม่มี ถ้าจีวรมาถึงเธอไซร้ ก็ถึงแต่จีวรขาดๆ จีวรเก่าๆ หรือจีวรซีดๆ แม้เสนาสนะเล่า ไม่ว่าบรรณศาลา หรือมณฑป ก็มาถึงแต่ที่อยู่ชายวิหาร แม้เมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต ก็เที่ยวไปข้างหลังเด็กๆ ผู้เป็นลูกและหลาน นั่งในที่ท้ายๆ ด้วยเหตุนั้น เธอจึงเป็นทุกข์ เสียใจ หลั่งน้ำตา คิดว่าทรัพย์อันเป็นของตระกูลของเรามีอยู่ ควรไหมหนอ ที่เราใช้ทรัพย์นั้นเลี้ยงชีวิต จึงถามพระวินัยธรรูปหนึ่งว่า ท่านอาจารย์ การพิจารณาสิ่งของ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 416

อันเป็นของตนแล้วกิน จะสมควรหรือไม่สมควร. พระวินัยธรตอบว่า ในข้อนี้ไม่มีโทษ ข้อนั้นสมควรแท้. เธอจึงพาพวกภิกษุว่ายาก ประพฤติเลวทราม ผู้คบกับตน ๒ - ๓ รูป ในเวลาเย็นไปภายในบ้าน ยืนอยู่กลางบ้าน ให้เรียกชาวบ้านมา กล่าวว่า ท่านจะให้ทรัพย์ที่เกิดจากการประกอบของพวกเราแก่ใคร. ชาวบ้านพูดว่า ท่านขอรับ พวกท่านเป็นบรรพชิต พวกท่านจะให้ใครเล่า. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ทรัพย์ของตนไม่ควรแก่บรรพชิตหรือ. ดังนี้แล้ว ให้คนถือจอบและตะกร้า กระทำกิจมีการก่อคันนาเป็นต้น รวบรวมปุพพัณณชาต อปรัณณชาต และผลไม้น้อยใหญ่ มีอย่างต่างๆ ให้หุงต้มเคี้ยวกินสิ่งปรารถนาในเหมันตฤดู คิมหันตฤดู และวัสสานฤดู เป็นสมณกุฎุมพีเลี้ยงชีวิต. หญิงบำเรอบาทบริจาริกาพร้อมกับเด็กไว้ผม ๕ แหยมของสมณกุฎุมพีนั้น คนเดียวก็ไม่มี. บุคคลนี้ให้กายสามัคคีแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ลานพระเจดีย์และลานต้นโพธิ์ เป็นต้น เหมือนต้นไม้ถึงแม้มีกิ่งอยู่ในฝั่ง แต่ก็มีกิ่งห้อยย้อยลงมาถูกน้ำ เธอลงสู่อริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ไม่อาจไปถึงสาครคือพระนิพพานได้ เพราะมีรากภายนอกต้น เหตุที่ตัดความเกี่ยวพันทางคฤหัสถ์ยังไม่ขาด.

บุคคลผู้ขาดอาชีวะอาศัยของสงฆ์เลี้ยงชีพ พึงเห็นเหมือนกิ่งคดเกิดกลางแม่น้ำคงคาถูกเถาวัลย์เกี่ยวพันไว้ภายนอก. คนบางคนแม้ละความเกี่ยวพันทางคฤหัสถ์ออกบวช ก็ไม่ได้บรรพชาในสถานอันสมควร. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า การบรรพชานี้ เป็นเหมือนการถือปฏิสนธิ มนุษย์ทั้งหลายถือปฏิสนธิในตระกูลเหล่าใด ย่อมศึกษาอาจาระ (มารยาทและธรรมเนียม) ของตระกูลเหล่านั้นนั่นแล ฉันใด แม้ภิกษุก็ฉันนั้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 417

ถือเอาอาจาระเฉพาะในสำนักของเหล่าภิกษุที่ตนบวช เพราะฉะนั้น บุคคลบางคน บวชในสถานอันไม่สมควร ก็เป็นผู้เหินห่างจากคุณธรรม มีโอวาทานุสาสนี อุทเทศ (การเรียน) และปริปุจฉา (การสอบถาม) เป็นต้น ถือเอาหม้อเปล่าแต่เช้าตรู่ ไปยังท่าน้ำ วางบาตรไว้ที่คอไปสู่โรงฉัน เพื่อต้องการภัตสำหรับอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย เล่นการเล่นต่างๆ กับภิกษุหนุ่มและสามเณร ผู้ว่ายาก คลุกคลีกับคนวัดและเด็กอยู่.

ในเวลาเป็นหนุ่ม เธอก็กินอยู่ร่วมกับภิกษุหนุ่มสามเณรและคนวัด อันเหมาะแก่ตน กล่าวว่าผู้นี้เป็นผู้กินอยู่ของสงฆ์ อันพระขีณาสพทั้งหลายรับมาจากสำนักของพระราชาชื่อโน้น พวกท่านไม่ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่สงฆ์ พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาทราบเรื่องของพวกท่านแล้ว ก็จักไม่พอพระทัย บัดนี้พวกท่านจงกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ในที่นี้ ดังนี้แล้วให้คนถือเอาจอบและตะกร้า กระทำกิจที่ควรทำในสระน้ำและเหมืองทั้งหลาย ในหนหลัง ให้ส่งปุพพัณณชาตและอปรัณณชาตเป็นอันมาก เข้าไว้ในวิหาร ให้คนวัดบอกแก่สงฆ์ ถึงความที่ตนเป็นผู้อุปการ สงฆ์สั่งให้ให้ว่า ภิกษุหนุ่มนี้เป็นผู้มีอุปการมาก พวกท่านจงให้ ๑๐๐ บ้าง ๒๐๐ บ้าง แก่ภิกษุหนุ่มนี้ ดังนั้น ท่านจึงเพิ่มพูนด้วยสมบัติของสงฆ์ ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ถูกอเนสนา ๒๑ อย่างผูกพันไว้ภายนอก ถึงจะหยั่งลงอริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ก็ไม่สามารถบรรลุถึงสาครคือพระนิพพาน.

บุคคลผู้เกียจคร้านและกินจุ พึงทราบเหมือนต้นไม้ที่ถูกทรายคลุมทับในที่ๆ ล้มลงนั่นแล แล้วกลายเป็นไม้ผุฉะนั้น. จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หมายเอาบุคคลเห็นปานนี้ ผู้เห็นแก่อามิสและละโมบในปัจจัย

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 418

ผู้ละทิ้งอาจารวัตร และอุปัชฌายวัตรเสียแล้ว ยังละเว้นจากอุทเทศ ปริปุจฉา และโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจ) จึงกล่าวนิวรณ์ ๕ โดยอรรถอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราจะไปสำนักของใคร. ลำดับนั้น ถีนมิทธนิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายไม่เห็นหรือ บุคคลผู้เกียจคร้านอยู่ในวิหารโน้น นั่น ไปบ้านชื่อโน้น ซ้อนข้าวต้มไว้บนข้าวต้ม ขนมไว้บนขนม ซ้อนข้าวสวยไว้บนข้าวสวย มาวิหาร เป็นผู้สละวัตรปฏิบัติหมด ละเว้นจากอุทเทศเป็นต้นขึ้นเตียงนอน จงให้โอกาสแก่เรา.

ลำดับนั้น กามฉันทนิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวว่า เมื่อเราให้โอกาสแก่ท่าน ท่านก็ต้องให้โอกาสแก่เราบ้าง บัดนี้แลเขานอนหลับ ถูกกิเลสรบกวน ตื่นขึ้นก็จักตรึกแต่กามวิตก.

ลำดับนั้น พยาปาทนิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวว่า เมื่อเราให้โอกาสแก่ท่าน ท่านก็ต้องให้โอกาสแก่เราบ้าง บัดนี้แลเราหลับไป ลุกขึ้นแล้ว ถูกต่อว่า ท่านจงทำวัตรปฏิบัติ ก็กล่าวคำหยาบมีประการต่างๆ ว่า ท่าน คนพวกนี้ไม่ทำการงานของตน ขวนขวายแต่ในเรา จำจักควักนัยน์ตาออก เที่ยวไป.

ลำดับนั้น อุทธัจจนิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวว่า เมื่อเราให้โอกาสแก่ท่าน ท่านก็ต้องให้โอกาสเราบ้าง ขึ้นชื่อว่า ผู้เกียจคร้าน ย่อมลุกขึ้นเหมือนกองเพลิงที่ถูกลมพัด.

ลำดับนั้น กุกกุจจนิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวว่า เมื่อเราให้โอกาสแก่ท่าน ท่านก็ต้องให้โอกาสแก่เราบ้าง ขึ้นชื่อว่า ผู้เกียจคร้าน ย่อมเป็นผู้มีความรำคาญเป็นปกติ ทำให้เกิดความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร และความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 419

ลำดับนั้น วิจิกิจฉานิวรณ์ ลุกขึ้นกล่าวว่า เมื่อเราให้โอกาสแก่ท่าน ท่านก็ต้องให้โอกาสแก่เราบ้าง. จริงอยู่ บุคคลเห็นปานนี้ชื่อว่า ย่อมให้เกิดความสงสัยอย่างใหญ่ในฐานะทั้ง ๘.

นิวรณ์ ๕ ย่อมครอบงำยึดเอาผู้ที่เกียจคร้านกินจุ ด้วยอาการอย่างนี้ เหมือนสุนัขดุเป็นต้นข่มเหงโคแก่ตัวเขาขาดฉะนั้น. แม้ผู้นั้น ถึงหยั่งลงสู่กระแสอริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ก็ไม่สามารถจะบรรลุถึงสาครคือพระนิพพานได้.

บุคคลผู้มีทิฏฐิเป็นคติ ทำทิฏฐิให้เกิดแล้วตั้งอยู่ พึงทราบเหมือนต้นไม้ตั้งอยู่โดยอาการดุจรากที่ฝังอยู่ในระหว่างแผ่นหิน ๒ แผ่น. จริงอยู่ ผู้นั้นเป็นเหมือนอริฏฐภิกษุ และกัณฐกสามเณร เที่ยวกล่าวอยู่ว่า ในอรูปภพ ก็มีรูป ในอสัญญีภพ จิตก็ย่อมเป็นไป โลกุตตรมรรค อันเป็นไปหลายขณะจิต อนุสัยเป็นจิตตวิปยุต และเหล่าสัตว์เหล่านั้นแหละย่อมเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป ก็หรือว่า เป็นผู้มีวาทะว่าส่อเสียด เป็นผู้เที่ยวทำลายพระอุปัชฌาย์เป็นต้น กับสัทธิวิหาริกเป็นต้น. แม้ผู้นั้น ถึงหยั่งลงสู่กระแสพระอริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ก็ไม่สามารถจะบรรลุถึงสาครคือพระนิพพานได้.

บุคคลที่บวชในเวลาแก่ อยู่ในชนบทปลายแดน และผู้เห็นธรรมได้โดยยาก พึงทราบเหมือนต้นไม้ที่ระท้องฟ้ากลางแจ้ง ถูกเถาวัลย์พัน ยืนต้นแช่น้ำอยู่ ๒ - ๓ ครั้ง ในเมื่อห้วงน้ำหลากมา ท่วมเกิน ๑ - ๒ ปี จริงอยู่ บุคคลบางคน บวชในเวลาเป็นคนแก่ ได้อุปสมบทในชนบท

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 420

ปลายแดน โดย ๒- ๓ วัน ในเวลามีพรรษา ๕ ท่องปาฏิโมกข์ได้คล่องแคล่ว ในเวลาได้ ๑๐ พรรษา ในเวลากล่าววินัยในสำนักพระเถระผู้ทรงวินัย วางพริกไทย หรือชิ้นสมอไว้ในปาก ปิดหน้าด้วยพัด นั่งหลับ เป็นผู้ชื่อว่า มีวินัยอันเธอกระทำแล้วด้วยอากัปกิริยาเป็นเลศ ถือบาตรและจีวรไปยังชนบทปลายแดน.

มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น พากันสักการะภิกษุนั้น กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แล เพราะการเห็นภิกษุหาได้ยาก จึงพากันสร้างวิหาร ปลูกต้นไม้มีดอกและออกผลแล้วให้อยู่ในวิหารนั้น.

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลาย ผู้พหูสูต จากวิหารเช่นกับด้วยมหาวิหาร ไปในที่นั้นด้วยตั้งใจว่า จักมาบำเพ็ญวิปัสสนาเป็นต้นในชนบท. ภิกษุนั้นเห็นภิกษุเหล่านั้น ยินดีร่าเริง บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ วันรุ่งขึ้นจึงพากันเข้าไปบ้านเพื่อภิกขาจารกล่าวว่า พระเถระชื่อโน้นเป็นผู้ทรงพระสูตร พระเถระชื่อโน้นเป็นผู้ทรงอภิธรรม พระเถระชื่อโน้นเป็นผู้ทรงพระวินัย พระเถระชื่อโน้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก เมื่อไรพวกท่านจักได้พระเถระเห็นปานนี้ จักสร้างที่ฟังธรรม. อุบาสกทั้งหลายคิดว่า พวกเราจักสร้างที่ฟังธรรม ดังนี้แล้ว ชำระทางไปวิหาร แล้วถือเอาเนยใสและน้ำมันเป็นต้น เข้าไปหาพระมหาเถระ กล่าวว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจะสร้างที่ฟังธรรม ท่านจงบอกกล่าวต่อพระธรรมกถึก วันรุ่งขึ้นจึงมาฟังธรรม.

พระเถระผู้เป็นเจ้าถิ่น เก็บงำบาตรและจีวรของภิกษุผู้อาคันตุกะ ให้ส่วนแห่งวันล่วงเลยไป ภายในห้องนั้นแล. พระธรรมกถึกผู้กล่าวตอนกลางวัน ลุกขึ้นกล่าวบทสรภัญญะเหมือนเทน้ำจากหม้อ ท่านไม่รู้บท

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 421

สรภัญญะแม้นั้น. ผู้กล่าวกลางคืน กล่าวตอนกลางคืนแล้วลุกขึ้น เหมือนทำสาครให้กะเพื่อม ท่านไม่รู้จักแม้บทสรภัญญะนั้น. ท่านผู้กล่าวตอนใกล้รุ่ง กล่าวแล้วลุกขึ้น ท่านก็ไม่รู้บทสรภัญญะแม้นั้น. ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ล้างหน้า น้อมบาตรและจีวรเข้าไปถวายพระเถระ เข้าไปภิกษาจารกล่าวกะพระมหาเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้กล่าวตอนกลางวัน กล่าวชาดกชื่ออะไร ท่านผู้กล่าวบทสรภัญญะ กล่าวสูตรอะไร ผู้กล่าวกลางคืน กล่าวธรรมกถาชื่ออะไร ผู้กล่าวตอนใกล้รุ่ง กล่าวชื่อชาดกอะไร ชื่อว่าขันธ์ทั้งหลาย มีเท่าไร ชื่อว่าธาตุทั้งหลาย มีเท่าไร ชื่อว่าอายตนะ มีเท่าไร พระเถระเห็นปานนี้ ล่วงไป ๑ - ๒ ปี จึงได้เห็นภิกษุและได้ฟังธรรม เช่นกับชุ่มด้วยน้ ในเมื่อห้วงน้ำหลากมา. บุคคลนั้นกลับจากเยี่ยมพระสงฆ์และการฟังธรรมอย่างนี้ อยู่ในที่ไกล ถึงหยั่งลงสู่อริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ก็ไม่สามารถจะบรรลุถึงสาครคือพระนิพพานได้.

บุคคลผู้กล่าวด้วยเสียงอันไพเราะ พึงทราบเหมือนต้นไม้อ่อนอันเกิดที่เกาะน้อยกลางแม่น้ำคงคา. จริงอยู่ บุคคลนั้นเรียนชาดก มีเวสสันดรชาดกเป็นต้น ที่รู้จักกันแล้ว ไปปัจจันตชนบทอันเป็นที่เห็นภิกษุได้ยาก อันชนผู้มีใจเลื่อมใสด้วยธรรมกถาในที่นั้นบำรุงอยู่ อยู่ในวิหารอันเป็นที่รื่นรมย์ดุจนันทนวัน มีต้นไม้ดอกผลสมบูรณ์ ที่เขาทำอุทิศเฉพาะตน.

ลำดับนั้น เหล่าภิกษุผู้กล่าวภาณวาร ได้ฟังเรื่องนั้นของภิกษุนั้นแล้ว จึงไปในที่นั้นด้วยคิดว่า ได้ยินว่าภิกษุชื่อโน้น มีจิตผูกพันในอุปัฏฐากอย่างนี้อยู่ ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต สามารถเพื่อเรียนพุทธพจน์ หรือ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 422

เพื่อมนสิการพระกรรมฐาน พวกเราพร้อมด้วยท่านจะนำมาเรียนธรรม เรียนกรรมฐานในสำนักพระเถระชื่อโน้น.

ท่านทำวัตรต่อภิกษุเหล่านั้น ในเวลาเย็นถูกภิกษุทั้งหลาย ผู้ออกจาริกไปในวิหารถามว่า อาวุโส ท่านสร้างเจดีย์นี้หรือ. จึงตอบว่า ขอรับท่านผู้เจริญ. ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า นี้ต้นโพธิ์ นี้มณฑป นี้โรงอุโปสถ นี้โรงไฟ นี้ที่จงกรม ท่านให้เขาสร้างหรือ ท่านให้ปลูกต้นไม้เหล่านี้ สร้างวิหารน่ารื่นรมย์ดุจนันทนวันหรือ. ภิกษุนั้นตอบว่า ขอรับท่านผู้เจริญ.

ในเวลาเย็นท่านไปสู่ที่บำรุงพระเถระ ไหว้แล้วถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงมาขอรับ. พระเถระกล่าวว่า อาวุโส พวกเราจะพาท่านไปเรียนกรรมฐานในสำนักพระเถระชื่อโน้น จักพร้อมเพรียงกันทำสมณธรรมในป่าชื่อโน้น เพราะฉะนั้นพวกเราจึงพากันมาด้วยเหตุนี้. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดีละขอรับ ธรรมดาว่าท่านมาเพื่อประโยชน์แก่กระผม แม้กระผมก็เป็นผู้เบื่อหน่ายในที่นี้ ด้วยการอยู่มานานจึงจะไป กระผมขอรับบาตรจีวรขอรับ. พระเถระกล่าวว่า อาวุโส พวกเราเป็นสามเณรและภิกษุหนุ่ม เหน็ดเหนื่อยมาในหนทาง วันนี้พักอยู่ก่อน พรุ่งนี้เวลาหลังอาหารจักไป. เธอกล่าวว่า ดีละ ท่านขอรับ วันรุ่งขึ้นก็ไปบิณฑบาตกับสามเณรและภิกษุหนุ่มเหล่านั้น.

ชาวบ้านคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา พาภิกษุอาคันตุกะมามากดังนี้แล้ว จึงพากันตกแต่งอาสนะ ให้ดื่มข้าวยาคู นั่งอย่างสบาย ฟังกถา นำภัตตาหารมา. พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส ท่านจงทำอนุโมทนาแล้วออกไป พวกเราจักกระทำภัตกิจ ในที่สำราญด้วยน้ำ ดังนี้

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 423

แล้วออกไป. ชาวบ้านฟังอนุโมทนาแล้วถามว่า ท่านขอรับ พระเถระทั้งหลายมาแต่ไหน พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า พระเถระเหล่านั้นเป็นอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของพวกเรา เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ เป็นผู้เคยเห็น เคยคบกันมา. ชาวบ้านถามว่า พระเถระเหล่านั้นมาทำไมกัน. เธอตอบว่า มาเพราะต้องการจะพาอาตมาไป. พวกชาวบ้านถามว่า ก็ท่านเล่าประสงค์จะไปหรือ. เธอตอบ อย่างนั้นสิผู้มีอายุ พวกชาวบ้านพูดว่า ท่านขอรับ ท่านพูดอะไร พวกผมสร้างโรงอุโบสถเพื่อใคร สร้างโรงฉันเพื่อใคร สร้างโรงไฟเพื่อใคร พวกเราจักไปสำนักของใคร ในกาลอันเป็นมงคลและอวมงคล. ฝ่ายอุบาสิกาทั้งหลาย นั่งในที่นั้นนั่นแลก็หลั่งน้ำตา. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า เมื่อท่านทั้งหลายได้รับทุกข์อย่างนี้ อาตมาจะไปทำอะไร ดังนี้ แล้วส่งพระเถระไปแล้วกลับไปวิหาร.

แม้พระเถระทั้งหลาย เสร็จภัตกิจแล้ว นั่งถือบาตรและจีวรรออยู่ พอเห็นภิกษุหนุ่ม จึงกล่าวว่า อาวุโส ทำไมจึงช้าอยู่ ยังวันอยู่หรือ เราจะไปละ. ภิกษุกล่าวว่าอย่างนั้นขอรับ ท่านได้รับสุข มูลของอิฐสำหรับบ้านโน้นยังค้างอยู่คงอยู่ตามสัณฐานที่ตั้งไว้นั่นแหละ มูลของจิตรกรรมเป็นต้นสำหรับบ้านโน้นเป็นต้นก็ยังค้างอยู่ แม้เมื่อกระผมไปเสีย จิตก็จักฟุ้งซ่าน พวกท่านจงล่วงหน้าไปกระทำการซักและการย้อมจีวรเป็นต้นในวิหารโน้น กระผมจักถึงในที่นั่น. พระเถระเหล่านั้น รู้ว่าภิกษุหนุ่มนั้นประสงค์ถ่วงเวลาจึงกล่าวว่า ท่านพึงมาในภายหลัง ดังนี้แล้วก็หลีกไป.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 424

ภิกษุหนุ่มนั้น ตามไปส่งพระเถระแล้วกลับมาวิหารนั่นแหละ จึงตรวจดูโรงฉันเป็นต้น เห็นวิหารน่ารื่นรมย์ จึงคิดว่าดีแล้วหนอ เราไม่ไปละ ถ้าไป พระธรรมกถึกบางรูปนั่นแหละ มาทำลายจิตใจของคนทุกคน ทำวิหารให้เป็นของนิกายตน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไปภายหลัง ฉันข้าวของชนที่เราได้ภายหลัง จักพึงเที่ยวไป.

สมัยต่อมา ภิกษุหนุ่มนั้น ฟังว่า เล่ากันมาว่าภิกษุเหล่านั้น เรียนพุทธพจน์ได้ ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๑ ปิฎกและ ๒ ปิฎกเป็นต้น ก็เป็นพระอรรถกถาจารย์ เป็นพระวินัยธร มีบริวารเป็นร้อยเป็นพัน เที่ยวไป. ส่วนภิกษุเหล่าใดไปเพื่อจะทำสมณธรรมในที่นั้น ภิกษุเหล่านั้นเพียรพยายามก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคตมี เป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานด้วยสักการะอย่างใหญ่ เธอคิดว่าถ้าเราจักไปแล้วไซร้ สมบัตินี้ก็จักเป็นของเรา แต่เราเมื่อไม่สามารถจะเปลื้องฐานะนี้ได้ จึงต้องเป็นผู้เสื่อมอย่างยิ่ง. บุคคลนี้เมื่อเปลื้องฐานะนั้น หยั่งลงสู่อริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ไม่สามารถบรรลุถึงสาครคือพระนิพพานได้ เพราะตนเป็นผู้อ่อนโยน.

บุคคลผู้ประพฤติย่อหย่อน เรียนบรรดาปฏิปทา มีรถวินีตสูตร มหาอริยวังสสูตร และจันโทปมสูตรเป็นต้น ปฏิปทาอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงทราบเหมือนต้นไม้เกิดเอง เป็นดังสะพานข้ามในระหว่าง แล้วเกิดเป็นปัจจัยที่อาศัยของชนเป็นอันมาก เพราะมันล้มลงขวางแม่น้ำคงคาแล้วถูกทรายกลบทับไว้. จริงอยู่บุคคลนั้น เรียนธรรมอันอาศัยข้อปฏิบัตินั้น ตามปกติเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ก็บรรลุฐานะอันยิ่งใหญ่ เช่นกับเขาจิตตลบรรพตเป็นต้น กระทำวัตรมีเจติยังคณวัตรเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 425

ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มพวกอาคันตุกะ กล่าวกะท่านภิกษุหนุ่ม ผู้มาถึงโรงฟังธรรมว่า ท่านจงกล่าวธรรม. ภิกษุหนุ่มนั้น กล่าวแสดงธรรมปฏิปทา ที่ตนเรียนมาโดยชอบ.

ลำดับนั้น เหล่าภิกษุผู้เถระ ผู้ใหม่ และมัชฌิมะทั้งหมด มีภิกษุผู้ทรงบังสุกูลิกธุดงค์ และภิกษุทรงปิณฑปาติกธุดงค์เป็นต้น มีความดีใจต่อภิกษุหนุ่มนั้นว่าดีจริง ท่านสัตบุรุษ.

ภิกษุหนุ่มนั้น เริ่มตั้งเพียงนิทานของบางสูตร กึ่งคาถาบางสูตร คาถาหนึ่งบางสูตร สงเคราะห์ภิกษุหนุ่มและสามเณร ประหนึ่งผูกติดกันด้วยแผ่นเหล็ก แล้วเข้าไปหาพระมหาเถระ ถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็วิหารเก่านี้มีอยู่ ปัจจัยลาภไรๆ เกิดในวิหารนั้น ก็ต้องเป็นของภิกษุในวิหารนั้น. พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส ท่านพูดอะไร ปัจจัยลาภเกิดในวิหารนั้น ได้เนื้อที่ถึง ๒๔๐๐๐ กรีส. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกท่านกล่าวอย่างนี้ แต่แม้ไฟก็ไม่ติดลุกที่เตาไฟ. พระเถระกล่าวว่า อาวุโส ขึ้นชื่อว่า ปัจจัยลาภที่ภิกษุผู้อยู่ในวิหารได้แล้วไม่มีอย่างนี้เลย ใครเล่าไม่ปรารถนา. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า ทานวัตถุที่พระราชาเก่าๆ พระราชทาน พระขีณาสพรับไว้แล้ว เพราะเหตุไร พระขีณาสพเหล่านั้น จึงจะทำปัจจัยลาภให้เสียหาย. พระเถระกล่าวว่า อาวุโส อันพระธรรมกถึกเช่นท่าน ก็พึงสามารถที่จะได้. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านอย่าพูดอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่า พระธรรมกถึกผู้แสดงข้อปฏิบัติ สำคัญกระผมว่าเป็นสังฆกุฎุมพี เป็นผู้บำรุงวิหาร จึงปรารถนาจะกระทำต่อกระผม. พระเถระกล่าวว่า อาวุโส ข้อนั้น เป็นอกัปปิยะ ข้อนี้ไม่ควรหรือ แต่เมื่อผู้เช่นท่าน

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 426

กล่าวแล้ว ข้อนั้นจะพึงเกิดแก่พวกผม. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น เมื่อคนวัดมา ท่านจงไว้หน้าที่พวกกระผม พวกกระผมจักบอกประตูกัปปิยะ ข้อสมควรอย่างยิ่ง.

ภิกษุหนุ่มไปแต่เช้าตรู่ ยืนอยู่ในเวลาประชุม เมื่อคนวัดมา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุบาสกทั้งหลาย ภาระในเขตโน้นอยู่ที่ไหน กหาปณะในเขตโน้นอยู่ที่ไหน จึงจับมือคนหนึ่ง ให้แก่อีกคนหนึ่ง. เมื่อเขาปฏิเสธข้อนั้นๆ ตามลำดับอย่างนี้ ให้แก่ผู้คนนั้นๆ กระทำโดยอาการที่อุบาสกทั้งหลาย ถือข้าวยาคู ถือขนม ถือภัต และถือขวดใส่น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น มายังสำนักของตน. วิหารทุกวิหาร ก็โกลาหลเป็นอย่างเดียวกัน. พวกภิกษุผู้น่ารักต่างแยกย้ายกันไป.

แม้ภิกษุหนุ่มนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์ ยังวิหารให้เต็มด้วยภิกษุผู้ว่ายากเป็นอันมาก ผู้ถูกอาจารย์และอุปัชฌาย์ประณามแล้ว. ภิกษุพวกอาคันตุกะ ยืนที่ประตูวิหาร ถามว่า ใครอยู่ในวิหาร ได้พูดว่า พวกภิกษุชื่อเห็นปานนี้ ต่างก็หลีกไปเสียทางด้านนอก. บุคคลนี้ยึดถือมหาชนเป็นปัจจัย หยั่งลงสู่อริยมรรค นั่งบนทุ่นคือสมาธิ ไม่สามารถจะบรรลุถึงสาครคือพระนิพพานได้ เพราะนอนขวางในพระศาสนา.

บทว่า ภควนฺตํ เอตทโวจ ความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรู้พระธรรมเทศนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้จบลงด้วยบทว่า นิพฺพานปพฺภารา แล้วได้กล่าวคำนี้ คือคำมีอาทิว่า กิํ นุ โข ภนฺเต (อะไรหนอพระเจ้าข้า) ดังนี้ เพราะตนเป็นผู้ฉลาดในอนุสนธิ. จริงอยู่ แม้พระตถาคตประทับนั่ง

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 427

ในบริษัทนี้ ทรงพระดำริว่า ภิกษุผู้ฉลาดในอนุสนธิมีอยู่ ภิกษุนั้นจักถามเรา จึงกระทำเทศนาให้จบลง ในที่ตรงนี้ เพื่อทรงให้โอกาสแก่ภิกษุนั้น นั้นแล.

บัดนี้ พึงทราบความเข้าไปยึด และไม่เข้าไปยึดเป็นต้น ในอายตนะภายในเป็นต้น ที่กล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิว่า โอริมํ ตีรํ อย่างนี้. ภิกษุผู้คิดว่าจักษุของเราแจ่มใส เราสามารถรู้แจ้งรูปารมณ์แม้มีประมาณน้อยได้ดังนี้แล้ว รูปารมณ์นั้น ทำจักษุให้เพลิดเพลินอยู่ก็ดี ผู้มีจักษุประสาทเสีย เพราะความมืดและลมเป็นต้น ถึงโทมนัส (ความเสียใจ) ว่า จักษุของเราไม่น่าชอบใจ เราไม่สามารถจะทำรูปารมณ์แม้ใหญ่ให้แจ่มแจ้งได้ก็ดี ชื่อว่า เข้าไปยึดจักขวายตนะ แต่เมื่อเห็นแจ้งด้วยอำนาจลักษณะ ๓ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชื่อว่า ไม่เข้าไปยึด (จักขวายตนะ) แม้ในโสตายตนะเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

ส่วนในมนายตนะ ภิกษุชอบใจอย่างนี้ว่า ใจของเราน่าชอบใจหนอ ไม่ถืออะไรๆ ทางข้างซ้าย ถือเอาทุกสิ่งทางข้างขวาเท่านั้น หรือยินดีอย่างนี้ว่า เมื่อเราคิดแล้วคิดเล่าด้วยจิต ชื่อว่า ไม่มีลาภ ไม่มีก็ดี เกิดโทมนัส (ความเสียใจ) ขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อเราคิดแล้วคิดเล่าแต่สิ่งชั่ว ใจก็ไม่ยอมรับเอา ดังนี้ก็ดี ชื่อว่า เข้าไปยึดมนายตนะ แต่เมื่อให้เกิดความยินดีในรูปที่น่าปรารถนา ให้เกิดความยินร้ายในรูปที่ไม่น่าปรารถนา ชื่อว่า เข้าไปยึดรูปายตนะ แม้ในสัททายตนะเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 428

บทว่า นนฺทิราคสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า เหมือนอย่างว่า ทรายละเอียดและหยาบ ปิดท่อนไม้ที่จมตรงกลาง (นอกนั้น) อยู่บนบก ท่อนไม้นั้นไม่สามารถจะยกปลายขึ้นได้อีก ฉันใด บุคคลผู้อันนันทิราคะติดพันแล้วก็ฉันนั้น ตกไปในอบาย ๔ ถูกทุกข์ใหญ่บีบคั้น เขาไม่สามารถเงยศีรษะขึ้นได้อีกตั้งหลายพันปี ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า นนฺทิราคสฺเสตํ อธิวจนํ ดังนี้.

บทว่า อสฺมิมานสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า เหมือนอย่างว่า ท่อนไม้ที่งอกขึ้นบนบก ท่อนล่างแช่น้ำในแม่น้ำคงคา ท่อนบนเปียกน้ำฝน ถูกสาหร่ายหุ้มรัดไว้โดยลำดับ ก็จะถูกเขาต่อว่าว่าตอนั้นเป็นแผ่นหินหรือฉันใด บุคคลผู้ถือตัวด้วยอัสมิมานะก็ฉันนั้น ถือว่าเป็นผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตรในฐานะของผู้ถือบังสุกูลิกังคธุดงค์ เป็นพระธรรมกถึกในฐานะพระธรรมกถึก เป็นผู้รักษาเรือนคลังในฐานะภัณฑาคาริก เป็นแพทย์ในฐานะเป็นแพทย์ เป็นผู้ส่อเสียดในฐานะเป็นผู้ส่อเสียด. บุคคลนั้น ถึงการแสวงหาที่ไม่สมควรมีประการต่างๆ ถูกอาบัตินั้นๆ ผูกพันไว้ ก็จะถูกเขาต่อว่า ศีลอะไรๆ ภายในของเขา มีหรือไม่มีหนอ. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า อสฺมิมานสฺเสตํ อธิวจนํ ดังนี้.

บทว่า ปญฺจนฺเนตํ กามคุณานํ อธิวจนํ ความว่า เหมือนอย่างว่า ท่อนไม้ที่ตกไปในน้ำวน ถูกกระแทกที่แผ่นหินเป็นต้น แหลกละเอียดภายในนั้นนั่นแล ฉันใด บุคคลผู้ตกไปในวังวน คือกามคุณ ๕ ก็ฉันนั้น ถูกทุกข์อันเกิดแต่ความหิวกระหายเป็นต้น กระทบกระทั่งบีบคั้น เพราะ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 429

กรรมกรณ์ (การลงโทษ) ในอบาย ๔ ถึงความแหลกละเอียดตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปญฺจนฺเนตํ กามคุณานํ อธิวจนํ ดังนี้.

บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล. บทว่า ปาปธมฺโม แปลว่า ผู้มีธรรมอันลามก. บทว่า อสุจิ แปลว่า ไม่สะอาด. บทว่า สงฺกสฺสรสมาจาโร ความว่า ผู้มีความประพฤติที่ผู้อื่นพึงระลึกโดยความรังเกียจอย่างนี้ว่า กรรมนี้ เห็นจะเป็นของผู้นี้ เห็นจะเป็นของผู้นี้. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ผู้มีความประพฤติน่ารังเกียจ เพราะประพฤติบาปสมาจารต่อบุคคลอื่น ความรังเกียจดังนี้ก็มี. จริงอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า มีสมาจารน่ารังเกียจ เพราะเห็นคน ๒ - ๓ คนพูดกัน ก็รังเกียจ คือแล่นไปสู่ความประพฤติของคนเหล่านั้นว่า ผู้คนเหล่านี้ชะรอยจะกล่าวโทษเรา ดังนี้ก็มี.

บทว่า สมณปฏิญฺโ ความว่า ในการจับสลากเป็นต้น เมื่อเขาเริ่มนับว่า สมณะในวิหารมีเท่าไร ภิกษุนั้นก็ปฏิญญาว่า แม้เราก็เป็นสมณะ แม้เราก็เป็นสมณะ กระทำการจับสลากเป็นต้น. บทว่า พฺรหฺมจารีปฏิญฺโ ความว่า ในอุโบสถกรรมและปวารณากรรมเป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมเข้าสังฆกรรมเหล่านั้น โดยปฏิญญาว่า แม้เราก็เป็นพรหมจารี. บทว่า อนฺโตปูติ ความว่า ชื่อว่า ความเป็นผู้เน่าใน เพราะเป็นความเน่าของคุณความดี แม้ของบุคคลผู้ไม่เน่าในอาการ ๓๒ มีไตและหัวใจเป็นต้น. บทว่า อวสฺสุโต แปลว่า ผู้อันราคะชุ่มแล้ว. บทว่า กสมฺพุกชาโต ได้แก่ เกิดเป็นหยากเยื่อ เพราะกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 430

บทว่า เอตทโวจ ความว่า นายนันทะคนเลี้ยงโค ต้อนฝูงโคให้บ่ายหน้าสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วคิดว่า พระศาสดาตรัสว่า เธออาจบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ด้วยอำนาจเป็นผู้ไม่เข้าถึงฝั่งในเป็นต้น ถ้าเราอาจบำเพ็ญอย่างนั้นได้ไซร้ เราบวชแล้วจักบำเพ็ญได้ ดังนี้แล้วจึงได้กราบทูลคำนี้ คือคำว่า อหํ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า วจฺฉคิทฺธินิโย ความว่า แม่โคทั้งหลายมีความรักในลูกโคทั้งหลาย ด้วยทั้งนมที่กำลังหลั่งน้ำนมอยู่ ก็จักไปหาเอง เพราะความรักในลูกโค. บทว่า นิยฺยาเตเหว แปลว่า จงมอบให้. จริงอยู่ เมื่อแม่โคยังไม่ถูกมอบให้เจ้าของโคทั้งหลาย ก็จักเที่ยวตามหลังท่านด้วยคิดว่า แม่โคตัวหนึ่งไม่เห็น โคตัวหนึ่ง ลูกโคตัวหนึ่งก็ไม่เห็น เพื่อแสดงว่าความผาสุกจักมีด้วยประการฉะนี้ และขึ้นชื่อว่า บรรพชานี้ ไม่งอกงามสำหรับผู้ยังมีหนี้ และการบรรพชาที่ไม่มีหนี้ บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว จึงตรัสอย่างนั้น. บทว่า นิยฺยาติตา แปลว่า ถูกมอบให้แล้ว. ในสูตรนี้ ตรัสถึงวัฏฏะ และวิวัฏฏะ.

จบ อรรถกถาปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔