พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ฉัปปาณสูตร ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเสี้ยนหนามของชาวบ้าน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2564
หมายเลข  37380
อ่าน  532

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 497

๑๐. ฉัปปาณสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเสี้ยนหนามของชาวบ้าน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 497

๑๐. ฉัปปาณสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเสี้ยนหนามของชาวบ้าน

[๓๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีตัวเป็นแผล มีตัวเป็นพุพอง พึงเข้าไปสู่ป่าหญ้าคา ถ้าแม้หน่อหญ้าคาพึงตำเท้าของบุรุษนั้น ใบหญ้าคาพึงบาดตัวที่พุพอง บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการตำและการบาดนั้นเป็นเหตุโดยยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี ย่อมได้บุคคลผู้กล่าวท้วงว่า ท่านผู้นี้แลกระทำอย่างนี้ มีสมาจารอย่างนี้ เป็นผู้ไม่สะอาด และเป็นหนามของชาวบ้าน. ครั้นทราบ ภิกษุนั้นว่า เป็นผู้ไม่สะอาด และเป็นเสี้ยนหนามแห่งชาวบ้านอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวรต่อไป.

ว่าด้วยอสังวรและสังวรเปรียบด้วยคนจับสัตว์ ๖ ชนิด

[๓๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสังวรเป็นอย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 498

น้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง.

[๓๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจร (ที่หากิน) ต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว คือจับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว ครั้นแล้วพึงขมวดปมรวมกันไว้ตรงกลางปล่อยไป. ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกันเหล่านั้น พึงดึงกันและกัน เข้าหาเหยื่อและอารมณ์ของตนๆ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไป ตามวิสัยของตนๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไปสู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้อบรม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 499

ไม่กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุจะฉุดภิกษุนั้นไป ในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ จะเป็นของปฏิกูล ฯลฯ ใจจะฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ จะเป็นของปฏิกูล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสังวรเป็นอย่างนี้แล.

[๓๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังวรเป็นอย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง.

[๓๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีอาหารต่างกัน คือพึงจับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงผูกติดไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง. ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีอาหารต่างกัน พึงดึงกันและกันเข้าหาอาหารและอารมณ์ของตนๆ คืองูพิษดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 500

อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตนๆ พึงลำบาก เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้นพึงยืนพิง นั่งพิง นอนพิงหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอบรม กระทำให้มากซึ่งกายด้วยสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจย่อมไม่เป็นของปฏิกูล ฯลฯ ใจย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจย่อมไม่เป็นของปฏิกูล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังวรเป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า หลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

จบ ฉัปปาณสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาฉัปปาณสูตรที่ ๑๐

ในฉัปปาณสูตรที่ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อุรูคตฺโต แปลว่า ตัวมีแผล. ชื่อว่า ปกฺกคตฺโต เพราะแผลเหล่านั้นนั่นแล เน่าฟอน. บทว่า สรวนํ แปลว่า ป่ามีหนาม. บทว่า เอวเมว โข ความว่า บุคคลผู้ทุศีล พึงทราบว่า เหมือนคนมีตัวเต็มไป

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 501

ด้วยแผล. ทุกข์ที่เกิด ภิกษุผู้ถูกเพื่อนสพรหมจารีในที่นั้นกล่าวอยู่ว่า ผู้นี้นั้นเป็นผู้กระทำกรรมเหล่านี้ๆ พึงทราบเหมือนทุกข์โทมนัสที่เกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น ผู้ถูกหน่อหญ้าคาแทง (๑) และมีตัวถูกใบไม้ที่มีหนาม ซึ่งเปรียบด้วยคมดาบบาดเอา.

บทว่า ลภติ วตฺตารํ ความว่า ได้ผู้ทักท้วง. บทว่า เอวํการี ความว่า เป็นผู้กระทำเวชกรรม และทูตกรรมเป็นต้น เห็นปานนี้.

บทว่า เอวํ สมาจาโร ความว่า ผู้มีโคจรเห็นปานนี้ ด้วยสามารถแห่งโคจร ๓ อย่างเป็นต้น.

บทว่า อสุจิคามกณฺฏโก ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่สะอาด เพราะอรรถว่า ไม่หมดจด. ชื่อว่าเป็นเสี้ยนหนาม เพราะอรรถว่า ทิ่มแทงชาวบ้าน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า คามกณฺฏโก (หนามแทงชาวบ้าน). (๒)

บทว่า ปกฺขิํ ได้แก่ นกหัสสดีลิงค์. บทว่า โอสชฺเชยฺย แปลว่า พึงปล่อยไป. บทว่า อาวิญฺเฉยฺยุํ แปลว่า พึงฉุดมา. บทว่า ปเวกฺขามิ แปลว่า จักเข้าไป. (๓) บทว่า อากาสํ เทสฺสามิ แปลว่า เราจักบินไปสู่อากาศ.

ก็ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น งูมีความประสงค์จะเข้าไปสู่จอมปลวกด้วยคิดว่า เราจะเอาขนดขดให้กลม แล้วนอนหลับ.


(๑) ปาฐะว่า ขนฺเธหิ ฉบับพม่าเป็น วิทฺธสฺส แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ปาฐะว่า อสุทฺธฏฺเน อสุจิคามวาสีนํ ฉบับพม่าเป็น อสุทฺธฏฺเน อสุจิ, คามวาสินํ แปลตามฉบับพม่า.

(๓) ปาฐะว่า ปวิสิสฺสามีติ ฉบับพม่าเป็น ปวิสิสฺสามิ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 502

จระเข้มีความประสงค์จะลงสู่น้ำด้วยคิดว่า เราจะเข้าไปสู่โพรงในที่ไกล แล้วนอน.

นกมีความประสงค์จะบินไปสู่อากาศด้วยคิดว่า จักเที่ยวไปให้สบายในท้องฟ้า.

ลูกสุนัขมีความประสงค์จะเข้าไปสู่บ้านด้วยคิดว่า เราจักคุ้ยขี้เถ้าในเตาไฟ นอนรับความอบอุ่น.

สุนัขจิ้งจอกมีความประสงค์จะเข้าไปสู่ป่าช้าผีดิบด้วยคิดว่า เราจะเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ และจักนอนเหยียดหลัง.

ลิงมีความประสงค์จะเข้าไปสู่ป่าใหญ่ด้วยคิดว่า เราจะขึ้นต้นไม้สูง วิ่งเล่นไปตามทิศต่างๆ.

บทว่า อนุวิธาเธยฺยุํ แปลว่า พึงตามไป. บาลีว่า อนุวิธิเยยฺยุํ ดังนี้ ก็มี. ความว่า พึงคล้อยตาม. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า สัตว์ทั้ง ๖ นั้น พึงไปในที่ (ที่เขาประสงค์จะไป) นั้นนั่นแล.

ในบทว่า เอวเมว มีอธิบายดังต่อไปนี้.

อายตนะ พึงเห็นเหมือนสัตว์ ๖ ชนิด ตัณหา พึงเห็นเหมือนเชือกที่เหนียว อวิชชา พึงเห็นเหมือนปม (๑) ในท่ามกลาง (ที่ขมวดไว้) ในทวารใดๆ อารมณ์มีกำลังมาก อายตนะนั้นๆ ย่อมเหนี่ยวอารมณ์นั้นเข้ามา.


(๑) ปาฐะว่า ตนฺติ แต่ฉบับพม่าเป็น คณฺิ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 503

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอุปมานี้ เปรียบเทียบด้วยสิ่งที่จะพึงเห็นสมกัน หรือด้วยสามารถแสดงให้เห็นความต่างกันแห่งอายตนะทั้งหลาย. ในสองอย่างนั้น เมื่อว่าด้วยสิ่งที่เห็นสมกันก่อน กิจแห่งอัปปนาจะไม่มีอีกแผนกหนึ่งต่างหาก ส่วนในบาลีเท่านั้น จึงจัดเป็นอัปปนา. แต่เมื่อว่าโดยการแสดงให้เห็นความต่างกันแห่งอายตนะ จึงเป็นอัปปนา ดังนี้. ธรรมดาว่างูนี้ไม่ชอบอยู่ในที่เย็นและที่เตียน ในภายนอก. แต่ในเวลาที่เข้าไปสู่ที่กองหยากเยื่อ ที่รกรุงรังไปด้วยหญ้าและใบไม้ และจอมปลวกเป็นต้นเท่านั้นแล้วนอน จึงยินดี ถึงความเป็นสัตว์มีอารมณ์เป็นหนึ่งฉันใด แม้จักษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอารมณ์ไม่เสมอกัน ย่อมไม่ยินดีที่ราบเรียบ มีฝาเรือนที่ทำด้วยทองคำเป็นต้น ไม่ปรารถนาจะดู แต่ชอบในสิ่งที่วิจิตรด้วยรูป และวิจิตรด้วยดอกไม้ และเครือเถาเป็นต้นเท่านั้น เพราะว่าเมื่อตาไม่พอดู (ไม่อยากดู) ในที่เช่นนั้น (๑) ก็ยังอยากเปิดหน้าดู.

แม้จระเข้ออกไปข้างนอก มองไม่เห็นสิ่งที่ตนจะจับกินได้ ย่อมหลับตาคลานไป. แต่เวลาใดลงไปในน้ำชั่ว ๑๐๐ วา เข้าไปสู่โพรงแล้วนอน ในเวลานั้นจิตของมันก็มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หลับสบายฉันใด แม้โสตประสาทนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีช่องเป็นที่อาศัย อาศัยอากาศกระทำความชอบใจเฉพาะในช่องหูเท่านั้น การอยู่ในช่องหูนั่นแล ย่อมเป็นปัจจัยในการฟังเสียงของโสตประสาทนั้น แม้อากาศที่โปร่งก็ควรเหมือนกัน. ก็เมื่อ


(๑) ปาฐะว่า ยาทิเสสุปิ ฉบับพม่าเป็น ตาทิเสสุหิ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 504

บุคคลทำการท่องบ่นภายในถ้ำ เสียงจะไม่ทะลุ (๑) ผนังถ้ำออกมาข้างนอกได้เลย แต่จะออกมาตามช่องของประตูและหน้าต่าง ธาตุกระทบต่อๆ กันมา (คลื่นอากาศ) กระทบโสตประสาท. จึงในเวลานั้น คนที่นั่งบนหลังถ้ำ ก็รู้ได้ว่า เขาท่องบ่นสูตรชื่อโน้น.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อารมณ์ที่ประจวบเข้าย่อมมี นี่หรือ คืออารมณ์ที่ประจวบเข้า.

ตอบว่า ใช่แล้ว เป็นอารมณ์ที่มาประจวบ.

ถามว่า ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเขาตีกลองเป็นต้นในที่ไกล การจะรู้ว่า เสียงที่อยู่ในที่ไกล ไม่พึงมีหรือ.

ตอบว่า ไม่พึงมีหามิได้ เพราะเมื่ออารมณ์มากระทบโสตประสาท อาการที่จะรู้ว่า เสียงอยู่ในที่ไกล เสียงอยู่ในที่ใกล้ อยู่ที่ฝั่งโน้น หรืออยู่ที่ฝั่งนี้ ย่อมมี. ข้อนั้นเป็นธรรมดา.

ถามว่า ธรรมดานี้จะมีประโยชน์อะไร.

ตอบว่า (มีคือ) การได้ยินจะมีในที่ที่มีช่องหู เหมือนการเห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์เป็นต้นฉะนั้น เพราะฉะนั้น โสตประสาทนั้น จะไม่มีอารมณ์ที่มาประจวบเลย (๒) (ถ้าไม่มีช่องหู).


(๑) ปาฐะว่า เลณจฺฉทนํ ฉิทฺทิตฺวา ฉบับพม่าเป็น น เลณจฺฉทนํ ภินฺฑิตฺวา แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ปาฐะว่า อสมฺปตตโคจรเมว เจตํ ฉบับพม่าเป็น อสมฺปตฺตโคจรเมเวตํ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 505

แม้ปักษีก็ย่อมไม่ยินดี ที่ต้นไม้ หรือที่พื้นดิน. ก็เมื่อใดมันบินไปสู่อากาศที่โล่ง เลยไป ๑ หรือ ๒ ชั่วเลฑฑุบาต (ชั่วก้อนดินตก) เมื่อนั้นมันก็ถึงความสงบนิ่ง ฉันใด แม้ฆานประสาท ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอากาศเป็นที่อาศัย มีกลิ่นที่อาศัยลม (๑) เป็นอารมณ์. จริงอย่างนั้น โคทั้งหลาย เมื่อฝนตกใหม่ๆ จะสูดดมแผ่นดินแล้วแหงนหน้าสู่อากาศสูดดม. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมันยังไม่สูดดม ในเวลาเอาเท้าตะกุยดินที่มีกลิ่น จะไม่รู้กลิ่นของก้อนดินนั้นเลย.

ฝ่ายลูกสุนัข เที่ยวไปภายนอก ไม่เห็นที่ปลอดภัย ถูกขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น. แต่เมื่อมันเข้าไปภายในบ้านแล้วคุ้ยเถ้าที่เตาไฟนอน จะมีความสบายฉันใด แม้ลิ้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอาหารที่ได้มาจากบ้านเป็นที่อาศัย (๒) มีรสอันอาศัยอาโปธาตุเป็นอารมณ์. จริงอย่างนั้น ภิกษุแม้บำเพ็ญสมณธรรมตลอด ๓ ยามแห่งราตรี ถือเอาบาตรและจีวรเข้าไปสู่บ้าน. เธอไม่อาจรู้รสแม้แห่งของเคี้ยวที่แห้งที่ไม่ชุ่มด้วยน้ำลายได้.

แม้สุนัขจิ้งจอก เที่ยวไปข้างนอก ก็ไม่ประสบความชอบใจ แต่เมื่อมันเกาะกินเนื้อมนุษย์แล้วนอนนั่นแหละ จึงจะมีความสบาย ฉันใด แม้กายก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอุปาทินนกสังขารเป็นที่อาศัย มีโผฏฐัพพะ อาศัยปฐวีธาตุเป็นอารมณ์. จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้อุปาทินนกสังขารอื่น จะนอนเอาฝ่ามือหมุนศีรษะของตนเอง และปฐวีธาตุ


(๑) ปาฐะว่า ธาตุปนิสฺสยคนฺธโคจรํ ฉบับพม่าเป็น ธาตูปนิสฺสยคนฺธโคจรํ แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ปาฐะว่า อาโปสนฺนิสิตา รสารมฺมณา ฉบับพม่าเป็น อาโปนิสฺสิตรสารมฺมณา แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 506

ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ย่อมเป็นปัจจัยของกายนั้น ในการยึดเอาอารมณ์. จริงอยู่ ผู้ไม่ได้นั่ง หรือไม่ได้นอน (๑) ไม่สามารถจะรู้ภาวะที่แข็ง หรือหนาแห่งที่นอนที่เขาลาดไว้ดีแล้ว หรือแผ่นกระดานแม้ที่วางอยู่ภายใต้ได้ เพราะฉะนั้น ปฐวีธาตุทั้งที่เป็นภายในและภายนอก จึงเป็นปัจจัยแห่งกายนั้น ในการรู้โผฏฐัพพะได้.

แม้ลิง เมื่อเที่ยวไปบนภาคพื้น ก็ย่อมไม่รื่นรมย์ใจ แต่เมื่อมันขึ้นต้นไม้สูงประมาณ ๗ ศอก แล้วนั่งอยู่ที่คาคบ มองดูทิศน้อยใหญ่ จะมีความสบายฉันใด แม้ใจก็ฉันนั้นเหมือนกัน ชอบสิ่งต่างๆ มีภวังคจิตเป็นปัจจัย ย่อมกระทำความชอบใจในอารมณ์นานาชนิด แม้ที่เคยเห็นแล้วแต่ภวังคเดิมย่อมเป็นปัจจัยของใจนั้น เป็นอันว่าในเรื่องนี้ มีความสังเขปเพียงเท่านี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร ความต่างกันแห่งอายตนะทั้งหลาย ได้กล่าวไว้แล้วในอายตนนิทเทส ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล้ว.

บทว่า ตํ จกฺขุ นาวิญฺฉติ ความว่า ในสูตรนี้ท่านกล่าวเฉพาะปุพพภาควิปัสสนาว่า จักษุ จะไม่ฉุด (เขา) มา เพราะสัตว์ ๖ ตัว กล่าวคือ อายตนะ ผู้กำหนัดด้วยอำนาจตัณหา ที่ถูกผูกไว้ที่หลัก คือกายคตาสติ (๒) ถึงภาวะหมดพยศแล้ว.

จบ อรรถกถาฉัปปาณสูตรที่ ๑๐


(๑) ปาฐะว่า อิสีทนฺเตน วา ถทฺธปุถุภาโว ฉบับพม่าเป็น อนิสีทนฺเตน วา อนุปฺปีฏนฺเตน วา ถทฺธมุทุภาโว แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ในที่อื่นเทียบกายเหมือนหลัก เทียบสติเหมือนเชือกผูก.