พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปฐมเคลัญญสูตร ว่าด้วยควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2564
หมายเลข  37390
อ่าน  489

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 15

๗. ปฐมเคลัญญสูตร

ว่าด้วยควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 15

๗. ปฐมเคลัญญสูตร

ว่าด้วยควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ

[๓๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังศาลาคนไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ.

[๓๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ สติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล.

[๓๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 16

รู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า เหยียดออก ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ.

[๓๗๗] ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เราแล ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นอาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็สุขเวทนาอาศัยกายจึงไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยในกายและในสุขเวทนาเสียได้.

[๓๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนานี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 17

อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็ทุกข์เวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่ ย่อมละปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนาเสียได้.

[๓๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดียวอยู่อย่างนี้ อทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็อทุกขมสุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหนดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความ เสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนาเสียได้.

[๓๘๐] ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 18

น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่าเมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว.

[๓๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินจักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว.

จบ ปฐมเคลัญญสูตรที่ ๗

อรรถกถาปฐมเคลัญญสูตรที่ ๗

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมเคลัญญสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้.

บทว่า เยน คิลานสาลา เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริว่า ภิกษุทั้งหลายคิดว่า แม้ตถาคตเป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ยังเสด็จไปที่อุปัฏฐากคนไข้ พวกภิกษุไข้ ชื่อว่า ควรที่ภิกษุพึงบำรุง เชื่อถือแล้วจักสำคัญ พวกภิกษุไข้อันภิกษุควรบำรุง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 19

ดังนี้ และภิกษุเหล่าใด ย่อมเป็นผู้มีกัมมัฏฐานเป็นสัปปายะ ในที่นั้น เราจักบอกกัมมัฏฐานแก่ภิกษุเหล่านั้นดังนี้ จึงเสด็จเข้าไปหา. ข้าพเจ้าจักกล่าว บทที่ท่านกล่าวไว้ในบทเป็นอาทิว่า กาเย กายานุปสฺสี นั้น ข้างหน้า บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี คือพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง. บทว่า วยานุปสฺสี คือ พิจารณาเห็นความเสื่อม. บทว่า วิราคานุปสฺสี คือพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด บทว่า นิโรธานุปสฺสี คือพิจารณาเห็นความดับ. บทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี คือพิจารณาเห็นความสละคือคืน.

ถามว่า อะไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้. ตอบว่า ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องบรรลุของภิกษุนี้ แม้สติปัฏฐานย่อมเป็นส่วนเบื้องต้นอย่างเดียว. อนุปัสสนา ๓ แม้เหล่านี้ คือ อนิจจานุปัสสนา วยานุปัสสนา วิราคานุปัสสนา แม้ในสัมปชัญญะ ย่อมเป็นส่วนเบื้องต้นอย่างเดียว. นิโรธานุปัสสนา แม้ปฏินิสสัคคานุปัสสนา ทั้ง ๒ เหล่านี้ ย่อมเป็นมิสสกะคลุกเคล้ากัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงเวลาภาวนาสำหรับภิกษุนี้ด้วยเหตุประมาณเท่านี้. คำที่เหลือมีนัยอันกล่าวแล้วทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาปฐมเคลัญญสูตรที่ ๗