พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. รโหคตสูตร ว่าด้วยเวทนา ๓ หมายถึงสังขารเป็นของไม่เที่ยง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2564
หมายเลข  37394
อ่าน  380

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 26

รโหคตวรรคที่ ๒

๑. รโหคตสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ หมายถึงสังขารเป็นของไม่เที่ยง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 26

รโหคตวรรคที่ ๒

๑. รโหคตสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ หมายถึงสังขารเป็นของไม่เที่ยง

[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแต่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูก่อนภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูก่อนภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูก่อนภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นเองไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 27

[๓๙๒] ดูก่อนภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมดับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมดับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะ ปัสสาสะย่อมดับ เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญา ย่อมดับ เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะย่อมดับ.

[๓๙๓] ดูก่อนภิกษุ ลำดับนั้นแล เรากล่าวความสงบแห่งสังขาร ทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมสงบ.

[๓๙๔] ดูก่อนภิกษุ ปัสสัทธิ ๖ อย่างนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุขีณาสพย่อมระงับ.

จบ รโหคตสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 28

อรรถกถารโหคตวรรคที่ ๒

อรรถกถารโหคตสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในรโหคตสูตรที่ ๑ แห่งรโหควรรค ดังต่อไปนี้

บทว่า ยงฺกิญฺจิ เวทยิตํ ตํ ทุกฺขสฺมิ ความว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นทั้งหมดเป็นทุกข์. ในบทว่า สงฺขารานํ เยว อนิจฺจตํ เป็นอาทิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ความที่แห่งสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความสิ้นไป เสื่อมไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา อย่างนี้ใด เราหมายถึงข้อนี้ จึงกล่าวว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นเป็นทุกข์ อธิบายว่า เวทนาทั้งปวงเป็นทุกข์ ด้วยความประสงค์นี้ว่า เพราะว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้เวทนาทั้งหลาย ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน. ก็ชื่อว่าความไม่เที่ยงนี้ เป็นมรณะ ชื่อว่าความทุกข์ยิ่งกว่ามรณะ ย่อมไม่มีดังนี้.

บทว่า อถโข ปน ภิกฺขุ มยา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเพื่อแสดงว่า เราบัญญัติความดับแห่งเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น หามิได้ เราบัญญัติความดับแห่งธรรมแม้เหล่านี้ด้วย. ตรัสความสงบและความระงับตามอัธยาศัยของบุคคลผู้รู้ ด้วยเวทนาเห็นปานนี้. พึงทราบว่า อรูปฌาน ๔ ย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้วในที่นี้ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธศัพท์.

จบ อรรถกถารโหคตสูตรที่ ๑