ว่ายากหรือว่าง่าย
หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๓๘]
ว่ายากหรือว่าง่าย
ทุกคนคงจะทราบว่าผู้ที่ไม่โกรธ คือพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าท่านดับอนุสัยกิเลสคือปฏิฆานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง) ได้แล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ได้เป็นแม้พระอริยบุคคลเรื่องโกรธก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ว่าอย่าผูกโกรธเรื่องไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบการกระทำหรือคำพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียด เพราะเหตุว่านั่นเป็นความลึกของกิเลสซึ่งสะสมมากทีเดียวที่แสดงออก เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้ลักษณะอาการของอกุศลขั้นต่างๆ นั้นปรากฏ ก็ย่อมจะไม่รู้จักตัวเองว่ามีอกุศลมากมายหนาแน่นแค่ไหน
แต่ถ้าเป็นผู้ที่โกรธแต่ไม่พยาบาท อภัยได้และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ที่ว่ายาก แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมที่จะอภัย และยังพอใจที่จะยังโกรธอยู่ เป็นผู้ที่ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมนั่นคือผู้ที่ว่ายาก
สำหรับลักษณะของผู้ว่าง่ายก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร ลักษณะของผู้ว่าง่าย คือการว่ากล่าวได้ง่ายในบุคคลผู้รับโดยเบื้องขวา หมายความว่ารับคำว่ากล่าวด้วยความเคารพ ผู้ยินดีในการคล้อยตาม (ตามพระธรรมที่ได้ฟัง) เป็นไปกับด้วยความเอื้อเฟื้อนั่นมีอยู่ เหตุนั้นบุคคลนั้นชื่อว่าผู้ว่าง่าย
ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้นท่านกล่าวว่า เป็นธรรมกระทำที่พึ่งสำคัญไหม ถ้ายังเป็นผู้ว่ายากอยู่จะไม่สามารถมีธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้เลย แต่ว่าเมื่อเริ่มเป็นผู้ที่ว่าง่าย ท่านกล่าวว่าความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง
ข้อความต่อไปอธิบายว่า บทว่า สุวโจ ความว่าผู้ที่ผู้อื่นพึงว่ากล่าว คือพึงพร่ำสอนได้โดยง่าย
ถ้าสอนใครแล้วคนนั้นก็ไม่ยอมเลยที่จะปฏิบัติตาม คนสอนก็เหนื่อยใช่ไหม และในยุคนี้สมัยนี้เมื่อพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยมาจนถึง ๒๕๐๐ กว่าปี ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล เพราะฉะนั้นพระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ในเหตุผลก็จะรุ่งเรืองอยู่เพียงชั่วระยะหนึ่ง และต่อจากนั้นก็ถึงกาลที่จะค่อยๆ เสื่อมไป จนกระทั่งสูญไปในที่สุด
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย