พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ภิกขุสูตร ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทแห่งเวทนา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ก.ย. 2564
หมายเลข  37405
อ่าน  365

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 46

๑๐. ภิกขุสูตร

ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทแห่งเวทนา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 46

๑๐. ภิกขุสูตร (๑)

ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทแห่งเวทนา

[๔๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อเราแสดงธรรมโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน จักเกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้มีอยู่ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว


(๑) สูตรที่ ๑๐ ไม่มีอรรถกถาแก้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 47

เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้อันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือพวกเขาจักพร้อมเพรียงกัน จักชื่นบานต่อกัน จักไม่วิวาทกัน จักเป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม จักมองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่.

[๔๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ ฯลฯ (เหมือนข้อ ๔๑๓ ถึงข้อ ๔๒๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร. ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง ดังนี้.

จบ ภิกขุสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาภิกขุสูตรที่ ๑๐

สูตรที่ ๑๐ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น

จบ อรรถกถาภิกขุสูตรที่ ๑๐

จบ รโหคตวรรคที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รโหคตสูตร

๒. ปฐมวาตสูตร

๓. ทุติยวาตสูตร

๔. นิวาสสูตร

๕.ปฐมอานันทสูตร

๖. ทุติยอานันทสูตร

๗. ปฐมสัมพหุลสูตร

๘. ทุติยสัมพหุลสูตร

๙. ปัญจกังคสูตร

๑๐. ภิกขุสูตร.