๑. สิวกสูตร ว่าด้วยสิวกปริพาชกทูลถามปัญหา
[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 48
อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
๑. สิวกสูตร
ว่าด้วยสิวกปริพาชกทูลถามปัญหา
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 48
อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
๑. สิวกสูตร
ว่าด้วยสิวกปริพาชกทูลถามปัญหา
[๔๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล โมฬิยสิวกปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ ก็ในข้อนี้ท่านพระโคดมตรัสอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนสิวกะ เวทนาบางอย่างมีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่เวทนาบางอย่างซึ่งมีดีเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นในโลกนี้ บุคคลพึงทราบได้เองอย่างนี้ก็มี โลกสมมติว่าเป็นของจริงก็มี ในข้อนั้นสมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ ย่อมแล่นไปสู่สิ่งที่รู้ด้วยตนเอง และแล่นไปสู่สิ่งที่สมมติกันว่าเป็นความจริงในโลก เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เวทนาบางอย่างมีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 49
มีร่วมกันเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิดแต่เปลี่ยนฤดูก็มี ฯลฯ เกิดแต่รักษาตัวไม่สม่ำเสมอก็มี ฯลฯ เกิดจากการถูกทำร้ายก็มี ฯลฯ เวทนาบางอย่างเกิดแต่ผลของกรรมก็มี ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่เวทนาบางอย่างซึ่งเกิดแต่ผลของกรรมเกิดขึ้นในโลกนี้ บุคคลพึงทราบได้เองอย่างนี้ก็มี โลกสมมติว่าเป็นของจริงก็มี ในข้อนั้นสมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ ย่อมแล่นไปสู่สิ่งที่รู้ด้วยตนเอง และแล่นไปสู่สิ่งที่สมมติกันว่าเป็นความจริงในโลก เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่าเป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
[๔๒๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โมฬิยสิวกปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
[๔๒๙] เรื่องดี ๑ เสมหะ ๑ ลม ๑ ดี เสมหะ ลม รวมกัน ๑ ฤดู ๑ รักษาตัวไม่สม่ำเสมอ ๑ ถูกทำร้าย ๑ ผลของกรรม ๑ เป็นที่ ๘.
จบ สิวกสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 50
อรรถกถาอัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
อรรถกถาสิวกสูตรที่ ๑
พึงทราบวินิจฉัยในสิวกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้
บทว่า สิวโก ในบทว่า โมฬิยสิวโก เป็นชื่อของปริพาชกนั้น. ก็จุกของปริพาชกนั้นมีอยู่ เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า สิวกปริพาชกมีจุก. บทว่า ปริพฺพาชโก ได้แก่ ปริพาชกผู้นุ่งผ้า บทว่า ปิตฺตสมุฏฺานานิ ได้แก่ มีดีเป็นปัจจัย. บทว่า เวทยิตานิ คือเวทนา. เวทนา ๓ ย่อมเกิดขึ้นในบุคคลนั้นเพราะดีเป็นปัจจัย. ถามว่า อย่างไร. ตอบว่า ฝ่ายบุคคลบางคนคิดว่า ดีของเรากำเริบแล้ว ก็แล ชีวิตรู้ได้ยาก ย่อมให้ทาน สมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม. กุศลเวทนาย่อมเกิดขึ้นแก่บางคนนั้นด้วยอาการอย่างนี้. ส่วนบางคนคิดว่า เราจักทำเภสัชแก้ดี ย่อมฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดเท็จ ย่อมทำทุสีลกรรม ๑๐ ก็มี. อกุศลเวทนา ย่อมเกิดขึ้นแก่บางคนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้. แต่บางคนมีตนเป็นกลางว่า ดีของเราย่อมไม่สงบด้วยการทำยา แม้ประมาณเท่านี้ เรื่องยานั้นพอกันที ย่อมนอนอดกลั้นซึ่งเวทนาทางกาย. อัพยากตเวทนา ย่อมเกิดขึ้นแก่บางคนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้.
บทว่า สามํปิ โข เอตํ ความว่า บุคคลเห็นวิการแห่งดีนั้นๆ แล้ว ก็พึงทราบเวทนานั้นได้ด้วยตน. บทว่า สจฺจสมฺมตํ คือสมมติว่าเป็นจริง ฝ่ายชาวโลกเห็นวิการแห่งดีมีวรรณะด่างพร้อยเป็นต้นที่สรีระของเขาแล้ว ย่อมรู้ว่าดีของเขากำเริบ. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะแล่นไปสู่สิ่งที่รู้ด้วย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 51
ตนเอง และแล่นไปสู่สิ่งที่สมมติกันว่า เป็นจริงของโลก. แม้ในบทมีเสมหะ เป็นสมุฏฐานเป็นอาทิ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนบทว่า สนฺนิปาติกานิ ในบทว่า สนฺนิปาตสมุฏฺานานิปิ นี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะการกำเริบแห่งดีเป็นต้น แม้ทั้งสาม. บทว่า อุตุปริณามชานิ คือเกิดแต่ฤดูเปลี่ยน ย่อมเกิดขึ้นแก่ชาวชังคลเทศ เมื่ออยู่ในอนุประเทศ. ความเปลี่ยนฤดูย่อมเกิดขึ้น ด้วยสามารถมีฝั่งมณีสมุทรเป็นต้นอย่างนี้ว่า เมื่อชาวอนุประเทศอยู่ในชังคลเทศ. บทว่า ตโต ชาตา ได้แก่ เกิดแต่เปลี่ยนฤดู.
บทว่า วิสมปริหารชานิ ความว่า เกิดแต่การรักษาตัวไม่สม่ำเสมอ ในการรับภาระหนัก โดยมีการทุบเป็นต้น. หรือเมื่อเที่ยวไปผิดเวลา โดยมีการถูกงูกัดและตกบ่อเป็นต้น. บทว่า โอปกฺกมิกานิ ความว่า เกิดขึ้นเพราะถือว่า ผู้นี้เป็นโจร หรือเป็นทาริกาของผู้อื่น แล้วจึงทำร้ายด้วยการเอาเข่า ศอกและไม้ค้อนเป็นต้น โบยให้เป็นปัจจัย. บางคนถูกทำร้ายในภายนอกนั่นแล้ว ย่อมทำกุศล โดยนัยอันกล่าวแล้วแล. บางคนทำอกุศล. บางคนย่อมนอนอดกลั้นอยู่. บทว่า กมฺมวิปากชาตานิ คือเกิดแต่ผลของกรรมอย่างเดียว. ก็เมื่อกรรมวิบากเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว บางคนย่อมทำกุศล บางคนย่อมทำอกุศล บางคนย่อมนอนอดกลั้นอยู่. ก็เวทนา ๓ อย่าง ย่อมมีในวาระทั้งปวงอย่างนี้.
ในเวทนาเหล่านั้น เวทนาอันเป็นไปในสรีระซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๗ อย่างข้างต้น ใครๆ ก็อาจเพื่อจะห้ามได้ แต่เภสัชทั้งปวงก็ดี เครื่องป้องกันก็ดี ก็ไม่สามารถเพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดแต่ผลของกรรมได้เลย. ชื่อว่าโลกโวหาร พระองค์ได้ตรัสแล้วในพระสูตรนี้.
จบอรรถกถาสิวกสูตรที่ ๑