อาตัปปสูตร - ความเพียร ๓ ประการ - ๑๙ พ.ค. ๒๕๕๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ค. 2550
หมายเลข  3741
อ่าน  2,093

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๙ พ.ค. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

อาตัปปสูตร

ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ

จาก [เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 208

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ค. 2550

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 208

๑๐. อาตัปปสูตร

ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ

[๔๘๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเพียรพึงกระทำโดยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ ความเพียรพึงกระทำเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนขมขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำความเพียรเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อน ขมขึ้นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ.

จบอาตัปปสูตรที่ ๑๐

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ค. 2550

อรรถกถาอาตัปปสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอาตัปปสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า อาตปฺป กรณีย ความว่า ควรประกอบความเพียร

บทว่า อนุปฺปาทาย ความว่า เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น อธิบายว่า พึงกระทำด้วย เหตุนี้ คือ ด้วยคิดว่า เราจักตรวจตราไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น. แม้ต่อจากนี้ไปก็มีนัยนี้เหมือนกัน

บทว่า สารีริกาน ได้แก่ ที่เกิดในสรีระ

บทว่า ทุกฺขาน ความว่า (เวทนาทั้งหลาย) ที่เป็นทุกข์

บทว่า ติปฺปาน ได้แก่หนาแน่น หรือกล้า ด้วยสามารถแห่งการแผดเผา

บทว่า ขราน ได้แก่หยาบ

บทว่า กฏฺกาน ได้แก่ เผ็ดร้อน.

บทว่า อสาตาน ได้แก่ ไม่หวาน

บทว่า อมนาปาน ได้แก่ ไม่สามารถให้เจริญใจได้

บทว่า ปาณหราน ได้แก่ ตัดชีวิต

บทว่า อธิวาสนาย ได้แก่ เพื่อต้องการยับยั้ง คือเพื่อต้องการอดทน ได้แก่เพื่อต้องการอดกลั้น พระศาสดาครั้นทรงแสดง คือทรงยังพระธรรมเทศนานี้ให้เป็นไปในฐานะมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงชักชวน (ภิกษุทั้งหลาย) จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยโต โข ภิกฺขเว ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต ได้แก่ ยทา แปลว่าเมื่อใด

บทว่า อาตาปี ได้แก่มีความเพียร

บทว่า นิปโก ได้แก่มีปัญญา

บทว่า สโต ได้แก่ ประกอบด้วยสติ

บทว่า ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ได้แก่ เพื่อกระทำซึ่งการตัดขาดโดยรอบแห่งทุกข์ในวัฏฏะ คุณธรรม ๓ อย่าง มีความเพียรเป็นต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคละกันทั้งโลกิยะ และโลกุตระ

จบ อรรถกถาอาตัปปสูตรที่ ๑๐

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Buppha
วันที่ 18 พ.ค. 2550

_/|_ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 25 ม.ค. 2552

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ