ปฏิจจสมุปบาท สงเคราะห์ลงเป็นวัฏฏะ ๓ ได้ไหมครับ

 
วินัย ไกรสีห์
วันที่  30 ก.ย. 2564
หมายเลข  37520
อ่าน  900

ปฏิจจสมุปบาทถ้าย่อลงเป็นวัฏฏะ ๓ องค์ใดบ้างเป็นกิเลสวัฏฏ์/กรรมวัฏฏ์/วิปากวัฏฏ์ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 ก.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๖๔

ก็ในคำว่า วัฏฏะ ๓ ย่อมหมุนไปไม่มีกำหนด นี้ อธิบายว่า ภวจักร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้มีวัฏฏะ ๓ ด้วยวัฏฏะ ๓ เหล่านั้น คือ "สังขารและภพ เป็นกรรมวัฏฏ์ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสวัฏฏ์ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา เป็นวิปากวัฏฏ์" พึงทราบว่า ย่อมหมุนไปโดยการหมุนไปรอบบ่อยๆ ชื่อว่า ไม่มีกำหนดเพราะมีปัจจัยไม่ขาดสายตลอดเวลาที่กิเลสวัฏฏ์ยังไม่ขาดทีเดียว.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๕๖

จริงอยู่ อวิชชาเป็นประธานแห่งวัฏฏะ ๓ (กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์) เพราะว่า ด้วยการยึดถืออวิชชา กิเลสวัฏฏ์ฏะที่เหลือ และกรรมวัฏฏ์ฏะ เป็นต้น ย่อมผูกพันคนพาลไว้เหมือนการจับศีรษะงู สรีระงูที่เหลือก็จะพันแขนอยู่ แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดแล้วย่อมหลุดพ้นจาววัฏฏะเหล่านั้น เหมือนบุคคลตัดศีรษะงูแล้วก็จะพ้นจากการถูกพันแขน ฉะนั้นเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "เพราะสำรอกอวิชชาโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ



ปฏิจจสมุปบาท
หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจัยเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุ เป็นผลที่ทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไปทรงแสดงถึงเหตุและผลที่เกิดจากเหตุ ปฏิจจสมุปบาทไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นจิต เจตสิก และ รูป เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพราะมีอวิชชาคือ ความไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป มีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไป

ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ ได้แก่

๑. อวิชชา ๒. สังขาร ๓. วิญญาณ ๔. นามรูป ๕. สฬายตนะ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา ๙. อุปาทาน ๑๐. ภพ ๑๑. ชาติ ๑๒. ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความเป็นปัจจัยของปฏิจจสมุปบาท คือ

อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ทุกข์กาย) โทมนัส (ทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ)

ปฏิจจสมุปบาทมีทั้งส่วนที่เป็นกิเลส กรรม และ วิบาก ตามข้อความในพระไตรปิฎกในข้างต้น แม้แต่ในขณะนี้ ก็เป็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยที่อาศัยกันเกิดขึ้นโดยปัจจัยต่างๆ

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ดับกิเลสเป็นเหตุให้สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ได้ในที่สุด

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

กิเลสวัฏฏ์ - กัมมวัฏฏ์ - วิปากวัฏฏ์ฏ์

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วินัย ไกรสีห์
วันที่ 1 ต.ค. 2564

๑.อวิชชา/ตัณหา/อุปาทาน จัดเป็นกิเลสวัฏฏ์

๒.สังขาร (กรรมเจตนา) /ภพ (((ส่วนที่เป็นกรรมภพ))) จัดเป็นกรรมวัฏฏ์

๓.วิญญาณ/นามรูป/สฬายตนะ/ผัสสะ/เวทนา/ภพ (((ส่วนที่เป็นอุปัตติภพ))) /ชาติ/ชรามรณะ... จัดเป็นวิปากวัฏฏ์

ผมเจอข้อความนี้ในสื่อโซเชียลไม่ทราบว่าผิดถูกประการใดโดยเฉพาะข้อความในวงเล็บ (((กรรมภพ,อุปัติภพ))) รบกวนอาจารย์วิทยากรช่วยอธิบายขยายความเพื่อให้พอเข้าใจสักเล็กน้อย สำหรับสังขาร (อภิสังขารได้แก่เจตนา) อันนี้พอเข้าใจครับอนุโมทนาสาธุครับ _/|\_

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

เรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็เข้าใจเท่าที่จะเข้าใจได้ ตามกำลังปัญญาของตน

ภพ ที่เป็น กรรมภพ นั้น มุ่งหมายถึง เจตนาและสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับเจตนา ที่เป็นอกุศล และ มหากุศล และ มหัคคตกุศล (ฌานขั้นต่างๆ) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในปัจจุบันชาตินี้ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า กล่าวคือ ทำให้เกิดในภพภูมิต่างๆ ส่วน อภิสังขาร ในปฏิจจสมุปบาท มุ่งหมายถึง เจตนาที่เป็นอกุศล และ มหากุศล และ มหัคคตกุศล ในอดีต

อุปัตติภพ หมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ที่เป็นผลของเจตนา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในภพต่างๆ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลกิยวิบาก และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย และ กัมมชรูป

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วินัย ไกรสีห์
วันที่ 2 ต.ค. 2564

อนุโมทนา ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ