พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. คิลานสูตร ว่าด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ก.ย. 2564
หมายเลข  37533
อ่าน  547

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 172

๑๐. คิลานสูตร

ว่าด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 172

๑๐. คิลานสูตร

ว่าด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

[๕๘๓] ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีป่วย เป็นทุกข์ มีไข้หนัก ครั้งนั้นแล อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้ มาร่วมประชุมกันแล้วกล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด. เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคฤหบดีจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป.

[๕๘๔] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกมิตรสหายญาติสาโลหิตของจิตตคฤหบดีได้กล่าวกะจิตตคฤหบดีว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป.

จิตต. ฉันได้พูดอะไรออกไปบ้างหรือ ที่เป็นเหตุให้พวกท่านทั้งหลายกล่าวกะฉันอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 173

มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านได้พูดอย่างนี้ว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป.

จิตต. จริงอย่างนั้น อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้ ได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงตั้งปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตกาล ฉันจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป.

มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ก็อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงได้กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด.

จิตต. อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า จิตตคฤหบดีผู้นี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าเธอจักปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตไซร้ การปรารถนาด้วยใจของเธอผู้มีศีลนี้จักสำเร็จได้เพราะศีลบริสุทธิ์ ผู้ประกอบด้วยธรรมย่อมเพิ่มกำลังให้ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์ดังกล่าวมานี้ จึงได้กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่าขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด ฉันจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 174

มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงกล่าวสอนพวกข้าพเจ้าบ้าง.

[๕๘๕] จิตต. ฉะนั้น พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี่คือคู่แห่งบุรุษ ๔ ได้แก่บุรุษบุคคล ๘ นี้คือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งใหญ่ไปกว่า. อนึ่ง ไทยธรรมทุกชนิดในตระกูล จักเป็นของควรแบ่งกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี ครั้นแนะนำมิตรสหายญาติสาโลหิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และจาคะแล้ว ได้กระทำกาละ.

จบ คิลานสูตรที่ ๑๐

จบ จิตตคหปติปุจฉา.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 175

อรรถกถาคิลานสูตรที่ ๑๐

พึงทราบวินิจฉัยในคิลานสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อารามเทวตา ความว่า พวกเทพยดา ผู้สิงอยู่ในสวนดอกไม้ และในสวนผลไม้. บทว่า วนเทวตา คือเทพยดาผู้สิงอยู่ในไพรสัณฑ์ บทว่า รุกฺขเทวตา ความว่า เวสสวัณเทวดา ในกาลแห่งพระเจ้ามัตตราช พวกเทพยดาผู้สิงอยู่ในต้นไม้เหล่านั้นอย่างนี้ บทว่า โอสธิติณวนปฺปติ ความว่า พวกเทพยดา ผู้สิงอยู่บนต้นสมอไทยและมะขามป้อมเป็นต้น บนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้องเป็นต้น และบนต้นไม้เจ้าป่า. บทว่า สงฺคมฺม คือประชุมพร้อมกันแล้ว. บทว่า สมาคมฺม คือมาพร้อมกันแล้วแต่ที่นั้นๆ บทว่า ปณิเธหิ ความว่า ท่านจงตั้งด้วยสามารถความปรารถนา บทว่า อิชฺฌิสฺสติ สีลวโต เจโตปณิธิ ความว่า ความปรารถนาแห่งจิต จักสำเร็จแก่เธอผู้มีศีล. บทว่า ธมฺมิโก ผู้ประกอบด้วยกุศลธรรม ๑๐ คือไม่ถึงอคติ. บทว่า ธมฺมราชา เป็นไวพจน์ของ บทว่า ธมฺมิโก นั้นแหละ. อนึ่ง ชื่อว่า ธรรมราชา เพราะราชสมบัติอันพระองค์ทรงได้แล้วโดยธรรม. บทว่า ตสฺมา ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ถ้าอย่างนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงกล่าวสอนพวกข้าพเจ้าด้วยโอวาทเป็นต้นเถิด. บทว่า อปฺปฏิวิภตฺตํ ความว่า ไทยธรรมอันแบ่งกันแล้วอย่างนี้ว่า พวกเราจักถวายสิ่งนี้แก่พวกภิกษุ เราจักบริโภคสิ่งนี้ด้วยตนดังนี้ จักเป็นของทั่วไป กับด้วยพวกภิกษุด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาคิลานสูตรที่ ๑๐

จบ อรรถกถาจิตตคหปติปุจฉาสังยุต

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 176

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังโยชนสูตร

๒. ปฐมอิสิทัตตสูตร

๓. ทุติยอิสิทัตตสูตร

๔ มหกสูตร

๕. ปฐมกามภูสูตร

๖. ทุติยกามภูสูตร

๗. โคทัตตสูตร

๘. นิคัณฐสูตร

๙. อเจลสูตร

๑๐. คิลานสูตร.