๒. ตาลปุตตสูตร ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรําชื่อว่าตาลบุตร
[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 179
๒. ตาลปุตตสูตร
ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรําชื่อว่าตาลบุตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 179
๒. ตาลปุตตสูตร
ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรำชื่อว่าตาลบุตร
[๕๘๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้น พ่อบ้านนักเต้นรำ นามว่า ตาลบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง กลางสถานเต้นรำ กลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 180
แห่งเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย.
[๕๙๐] แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่า ตาลบุตร ก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไร.
[๕๙๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน ดูก่อนนายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น. เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น. เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโมหะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโมหะผูกไว้ นักเต้นรำย่อมรวบรวมไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 181
ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น นักเต้นรำนั้น ตนเองก็มัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท เมื่อแตกกายตายไป ย่อมบังเกิดในนรกชื่อปหาสะ. อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชื่อปหาสะ. ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด. ดูก่อนนายคามณี ก็เราย่อมกล่าวคติสองอย่างคือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลผู้มีความเห็นผิด.
[๕๙๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่าตาลบุตร ร้องไห้สะอื้น น้ำตาไหล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนายคามณี เราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลย นายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด อย่าถามข้อนี้กะเราเลย.
คามณี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้กะข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักเต้นรำผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลงสิ้นกาลนานว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชื่อปหาสะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีบ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 182
ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรมและภิกษสงฆ์ว่าเป็น สรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นายนฏคามณีนามว่าตาลบุตรได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ท่านพระตาลบุตรอุปสมบทไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ฯลฯ ก็แลท่านพระตาลบุตรเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ ตาลปุตตสูตรที่ ๒
อรรถกถาตาลปุตตสูตรที่ ๒
ในตาลปุตตสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ตาลปุตฺโต คือเขามีชื่ออย่างนั้น. เล่ากันมาว่า นายบ้านนักฟ้อนรำคนนั้น มีผิวพรรณผ่องใสเหมือนลูกตาลสุกที่หลุดจากขั้ว. ด้วยเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า ตาลบุตร. นายตาลบุตรผู้นี้นั้น เขาถึงพร้อมด้วยอภินิหาร (บุญเก่า) เป็นบุคคลเกิดในภพสุดท้าย (ไม่ต้องเกิดอีก). แต่เพราะธรรมดาปฏิสนธิ เอาแน่นอนไม่ได้ เหมือนท่อนไม้ที่ขว้างไปในอากาศ ฉะนั้น นายตาลบุตรนี้จึงบังเกิดในตระกูลนักฟ้อนรำ พอเจริญวัยก็เป็นยอดทางนาฏศิลปศิลปฟ้อนรำ มีชื่อกระฉ่อนไปทั่วชมพูทวีป. เขามีเกวียน ๕๐๐ เล่ม มีหญิงแม่บ้าน ๕๐๐ คนเป็นบริวาร แม้เขาก็มีภรรยาจำนวนเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงพร้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 183
และเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม อยู่อาศัยนครหรือนิคมใดๆ ประชาชนในนครหรือนิคมนั้นๆ พากันให้ทรัพย์แสนหนึ่งแก่เขาก่อนทีเดียว. เมื่อเขาแต่งตัวแสดงมหรสพกำลังเล่นกีฬาพร้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คนอยู่ ประชาชนต่างโยนเครื่องประดับมือเท้าเป็นต้น ตบรางวัลให้ไม่มีสิ้นสุด. วันนั้นเขาแวดล้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน เล่นกีฬาในกรุงราชคฤห์ เพราะมีญาณแก่กล้า พร้อมด้วยบริวารทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
บทว่า สจฺจาลิเกน ได้แก่ด้วยคำจริงบ้าง ด้วยคำเท็จบ้าง. บทว่า ติฏฺเตตํ ความว่า ข้อนั้นจงพักไว้. บทว่า รชนิยา ได้แก่มายากล แสดงลมเจือฝนพัดด้ายห้าสีออกจากปาก ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งราคะ และนัยที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างอื่นซึ่งแสดงอาการที่ประกอบด้วยความยินดีในกาม. บทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย ได้แก่โดยประมาณยิ่ง. บทว่า โทสนิยา ได้แก่อาการที่แสดงมายากลมีการตัดมือและเท้าเป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งโทสะ. บทว่า โมหนิยา. ได้แก่มายากลชนิดชนิดเอาน้ำทำน้ำมัน เอาน้ำมันทำน้ำ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งโมหะ. บทว่า ปหาโส นาม นิรโย ความว่า ธรรมดานรกที่ชื่อว่า ปหาสะ มิได้มีเป็นนรกหนึ่งต่างหาก แต่เป็นส่วนหนึ่งของอเวจีนั่นเองที่พวกสัตว์แต่งตัวเป็นนักฟ้อนรำ ทำเป็นฟ้อนรำและขับร้องพากันหมกไหม้อยู่ ท่านกล่าวหมายเอานรกนั้น. ในบทว่า นาหํ ภนฺเต เอตํ โรทามิ นี้ พึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจสกรรมกิริยาอย่างนี้ว่า ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้ถึงการพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าข้อนั้น พระเจ้าข้า. อนึ่ง ในข้อว่า ชนทั้งหลายปรารภถึงคนตายมีน้ำตาไหลร้องไห้เป็นต้นนี้ พึงทราบว่าเป็นอีกโวหารหนึ่ง.
จบ อรรถกถาตาลปุตตสูตรที่ ๒