พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อสังขาสูตร ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกเป็นต้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 ต.ค. 2564
หมายเลข  37542
อ่าน  467

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 198

๘. อสังขาสูตร

ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกเป็นต้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 198

๘. อสังขาสูตร

ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกเป็นต้น

[๖๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมืองนาฬันทา ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร สาวกของนิครณถ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนนายคามณี นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 199

พวกสาวกอย่างไร อสิพันธกบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ประพฤติผิดในกามต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป นิครณฐนาฏบุตรย่อมแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้แล พระเจ้าข้า.

[๖๐๙] พ. ดูก่อนนายคามณี ก็นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณฐนาฏบุตร ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษฆ่าสัตว์รวมทั้ง สมัยและไม่ใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาฆ่าสัตว์ หรือสมัยที่เขาไม่ฆ่าสัตว์ สมัยไหนมากกว่ากัน.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษฆ่าสัตว์รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาฆ่าสัตว์น้อยกว่า สมัยที่เขาไม่ได้ฆ่าสัตว์มากกว่าพระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ก็นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลนั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไปอบายตกนรก ตามคำของนิครณฐนาฏบุตร.

[๖๑๐] ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษลักทรัพย์รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางวันและกลางคืน สมัยที่เขาลักทรัพย์ หรือสมัยที่เขาไม่ได้ลักทรัพย์ สมัยไหนมากกว่ากัน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 200

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษลักทรัพย์รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาลักทรัพย์น้อยกว่า ส่วนสมัยที่เขามิได้ลักทรัพย์มากกว่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ก็นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลนั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณฐนาฏบุตร.

[๖๑๑] ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษประพฤติผิดในกามรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาประพฤติผิดในกาม หรือสมัยที่เขามิได้ประพฤติผิดในกาม สมัยไหนมากกว่ากัน.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษประพฤติผิดในกามรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาประพฤติผิดในกามนั้นน้อยกว่า ส่วนสมัยที่เขามิได้ประพฤติผิดในกามนั้นมากกว่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ก็นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณฐนาฏบุตร.

[๖๑๒] ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพูดเท็จรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาพูดเท็จ หรือสมัยที่เขามิได้พูดเท็จ สมัยไหนมากกว่ากัน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 201

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษพูดเท็จรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาพูดเท็จนั้นน้อยกว่า ส่วนสมัยที่เขามิได้พูดเท็จนั้นมากกว่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ก็นิครณฐนาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวก กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลนั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณฐนาฏบุตร.

[๖๑๓] ดูก่อนนายคามณี ศาสดาบางท่านในโลกนี้ มักพูดอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า ผู้ฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ทั้งประพฤติผิดในกามต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด.

[๖๑๔] ดูก่อนนายคามณี สาวกที่เลื่อมใสในศาสดานั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า สัตว์ที่เราฆ่ามีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น (สาวกของศาสดานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า) ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่าทรัพย์ที่เราลักมีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่ละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่ประพฤติผิดในกามต้องไป

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 202

อบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า กาเมสุมิจฉาจารที่เราประพฤติมีอยู่ แม้เราต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า คำเท็จที่เราพูดมีอยู่ แม้เราต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น.

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงศีล ๕

[๖๑๕] ดูก่อนนายคามณี ก็พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีโชค เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ ตถาคตนั้นทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต และตรัสว่า จงงดเว้นจากปาณาติบาต ทรงตำหนิติเตียนอทินนาทานและตรัสว่า จงงดเว้นจากอทินนาทาน ทรงตำหนิติเตียนกาเมสุมิจฉาจาร และตรัสว่าจงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงตำหนิติเตียนมุสาวาท และตรัสว่า จงงดเว้นจากมุสาวาท โดยอเนกปริยาย สาวกเป็นผู้เลื่อมใสในพระศาสดานั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาตโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากปาณาติบาต ก็สัตว์ที่เราฆ่ามีอยู่มากมาย ข้อที่เราฆ่าสัตว์

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 203

มากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนี้เป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปาณาติบาตนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ด้วยประการอย่างนี้.

[๖๑๖] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิติเตียนอทินนาทานโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากอทินนาทาน ทรัพย์ที่เราลักมีอยู่มากมาย ข้อที่เราลักทรัพย์มากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อน เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละอทินนาทานนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากอทินนาทานต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ ด้วยประการอย่างนี้.

[๖๑๗] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิติเตียนกาเมสุมิจฉาจารโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราประพฤติผิดในกามมีอยู่มากมาย ข้อที่เราประพฤติผิดในกามมากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละกาเมสุมิจฉาจารนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ ด้วยประการอย่างนี้.

[๖๑๘] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิติเตียนมุสาวาทโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากมุสาวาท ก็เราพูดเท็จมีอยู่มากมาย ข้อที่เราพูดเท็จมากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 204

เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้น หามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมุสาวาทนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากมุสาวาทต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ ด้วยประการอย่างนี้.

[๖๑๙] สาวกนั้นละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ละปิสุณาวาจา งดเว้นจากปิสุณาวาจา ละผรุสวาจา งดเว้นจากผรุสวาจา ละสัมผัปปลาปะ งดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ละอภิชฌา ไม่โลภมาก ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่มีจิตพยาบาท ละความเห็นนิด มีความเห็นชอบ ดูก่อนนายคามณี อริยสาวกนั้นนั่นแล ปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาทอย่างนี้ ไม่หลงงมงาย มีความรู้สึกตัว มีสติ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูก่อนนายคามณี คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณอันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลอบรมแล้วทำให้มากแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนนายคามณี อริยสาวกนั้นนั่นแล ปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาทแล้วอย่างนี้ ไม่หลงงมงาย รู้สึกตัว มีสติ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 205

ประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูก่อนนายคามณี คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยากฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตรสาวกนิครณฐ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า.

จบ อสังขาสูตรที่ ๘

อรรถกถาอสังขาสูตรที่ ๘

ในอสังขาสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ยํ พหุลํ ยํ พหุลํ นี้ นิครณฐ์ย่อมทำลายวาทะของตนด้วยตนเอง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธดำรัสว่า เอวํ สนฺเต น โกจิ อาปายิโก ดังนี้เป็นต้น. ก็บทก่อนๆ ๔ บท ย่อมเป็น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 206

ปัจจัยแก่ทิฏฐิ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชี้โทษในบทเหล่านั้น จึงตรัสพระพุทธดำรัสว่า อิธ คามณิ เอกจฺโจ สตฺถา เอวํวาที โหติ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํปมฺหิ ตัดบทเป็น อหํปิ อมฺหิ แปลว่า แม้เรา. คำที่ควรจะกล่าว ในบทว่า เมตฺตาสหคเตน เป็นต้นนั้นทั้งหมด ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค พร้อมด้วยภาวนานัย. แต่บทว่า เสยฺยถาปิ คามณิ พลวา สํขธมฺโม เป็นต้น ในที่นี้ ยังไม่มีมาก่อน.

ในบทนั้น ความว่า คนเป่าสังข์สมบูรณ์ด้วยกำลัง. บทว่า อปฺปกสิเรน แปลว่า โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก. จริงอยู่ คนเป่าสังข์ที่มีกำลังน้อย เมื่อเป่าสังข์ย่อมไม่อาจให้คนรู้แจ้งทั้ง ๔ ทิศได้ด้วยเสียง เสียงสังข์ของเขาไม่กระจายไปทั่วทิศ แต่เสียงสังข์ของผู้มีกำลัง ย่อมมีประการตรงกันข้าม (ดังไปทั่วทิศ) ฉะนั้น จึงตรัสว่า พลวา. ในบทว่า เมตฺตาย เจโตวิมุตฺติยา นี้ เมื่อกล่าวว่า เมตตา ก็หมายถึงทั้งที่เป็นอุปจาร ทั้งที่เป็นอัปปนา แต่เมื่อกล่าวว่า เจโตวิมุตติ ก็หมายถึงที่เป็นอัปปนาเท่านั้น. บทว่า ยํ ปมาณกตํ กมฺมํ ความว่า กรรมที่ทำพอประมาณ เรียกว่า กามาวจร กรรมที่ทำหาประมาณมิได้ เรียกว่า รูปาวจร กรรมที่เป็นรูปาวจรนั้น เรียกว่า ทำหาประมาณมิได้ เพราะทำขยายเกินประมาณ แผ่ไปทุกทิศทั้งเจาะจงและไม่เจาะจง. บทว่า น ตํ ตตฺราวสิสฺสติ น ตํ ตตฺราวติฏฺติ ความว่า กรรมที่เป็นกามาวจร ไม่เหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในกรรมที่เป็นรูปาวจรนั้น. อธิบายอย่างไร. อธิบายว่า กรรมที่เป็นกามาวจรนั้น ไม่อาจที่จะติดหรือตั้งอยู่ในระหว่างแห่งกรรมที่เป็นรูปาวจร

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 207

และอรูปาวจรนั้น ไม่อาจที่จะแผ่ไปถึงกรรมที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร แล้วยึดถือเป็นโอกาสของตนตั้งอยู่ ที่แท้ กรรมที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรนั่นเอง ย่อมแผ่ทับกรรมที่เป็นกามาวจรเข้าตั้งแทนที่ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ แผ่น้ำไปทีละน้อยเข้าตั้งแทนที่ ห้ามวิบากของกรรมที่เป็นกามาวจรนั้น แล้วนำเข้าถึงความเป็นสหายกับพรหมในสมัยนั่นแล พระสูตรนี้ดำเนินไปตามอนุสนธิทีเดียว เพราะตอนต้นเริ่มด้วยอำนาจกิเลส ตอนท้ายถือเอาด้วยอำนาจพรหมวิหาร.

จบ อรรถกถาอสังขาสูตรที่ ๘