พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. กุลสูตร ว่าด้วยเหตุปัจจัย ๘ อย่าง ทําให้ตระกูลคับแค้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 ต.ค. 2564
หมายเลข  37543
อ่าน  418

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 207

๙. กุลสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัย ๘ อย่าง ทําให้ตระกูลคับแค้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 207

๙. กุลสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัย ๘ อย่าง ทำให้ตระกูลคับแค้น

[๖๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงนาฬันทคาม ได้ยินว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวันใกล้นาฬันทคาม สมัยนั้นแล ชาวนาฬันทคามมีภิกษาหาได้ยาก เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลาก (บัตรปันส่วน) สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ในนาฬันทคาม พร้อมด้วยบริษัทนิครณฐ์เป็นอันมาก ครั้งนั้น นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร สาวกนิครณฐ์ เข้าไปหานิครณฐ์นาฏบุตรยังที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครณฐ์นาฏบุตรได้พูดกับนายคามณีอสิพันธกบุตรว่า มาเถิดนายคามณี จงยกวาทะแก่พระสมณโคดม กิตติศัพท์อันงามของท่านจักขจรไปอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 208

นายคามณีอสิพันธกบุตรยกวาทะแก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ นายคามณีถามว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างไร นิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวว่า มาเถิดท่านคามณี จงเข้าไปหาพระสมณโคดม ครั้นแล้วจงกล่าวกะพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยอเนกปริยายมิใช่หรือ ถ้าพระสมณโคดมถูกท่านถามอย่างนี้แล้ว ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า อย่างนั้นนายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยอเนกปริยาย ท่านจงกล่าวกะพระสมณโคดมนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้นทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์เป็นอันมากจึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลากเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น ดูก่อนนายคามมี พระสมณโคดมอันท่านถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจคาย จะไม่อาจกลืน (กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) ได้เลย.

[๖๒๑] นายอสิพันธกบุตรรับคำนิครณฐ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครณฐ์นาฏบุตร ทำประทักษิณแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 209

สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยายมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า อย่างนั้น นายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก จึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลากเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม ปฏิบัติเพื่อให้สกุลคับแค้น.

[๖๒๒] พ. ดูก่อนนายคามณี แต่ภัทรกัปนี้ไป ๙๑ กัป ที่เราระลึกได้ เราไม่รู้สึกว่าเคยเบียดเบียนสกุลไหนๆ ด้วยการถือเอาภิกษาที่สุกแล้วเลย อนึ่งเล่า สกุลเหล่าใดมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีทรัพย์คือเครื่องอุปกรณ์มาก มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมาก สกุลทั้งปวงนั้นเจริญขึ้นเพราะการให้ทาน เพราะสัจจะและสัญญมะ ดูก่อนนายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่างเพื่อความคับแค้นแห่งสกุลทั้งหลาย คือ สกุลทั้งหลายถึงความคับแค้นจากพระราชา ๑ จากโจร ๑ จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ ทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนจากที่ ๑ ย่อมวิบัติเพราะการงานประกอบไม่ดี ๑ ทรัพย์ในสกุลเดิมเป็นถ่านไฟ ๑ คนในสกุลใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านั้นฟุ่มเฟือย ให้พินาศสูญหายไป ๑ ความไม่เที่ยงเป็นที่ ๘ ดูก่อนนายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้แล เพื่อความคับแค้นของสกุลทั้งหลาย เมื่อเหตุปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้มีอยู่ ผู้ใดพึงว่าเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 210

ปฏิบัติเพื่อให้สกุลขาดสูญ เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น ดังนี้ ผู้นั้นยังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละทิฏฐินั้น ต้องดิ่งลงในนรกแน่แท้.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นายคามณีอสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด พระเจ้าข้า.

จบ กุลสูตรที่ ๙

อรรถกถากุลสูตรที่ ๙

ในกุลสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทุพฺภิกฺขา แปลว่า มีภิกษาหาได้ยาก. บทว่า ทฺวีหิติกา ความว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปอย่างนี้ว่า พวกเราจักมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่หนอ. ปาฐะว่า ทุหิติกา ดังนี้ก็มี เนื้อความก็อย่างนี้แหละ ชื่อว่า ทุหิติกา ในข้อว่าเป็นอยู่ลำบาก นี้เพราะไม่อาจประกอบการงานอะไรๆ ได้สะดวก ชื่อว่า เสตฏฺิกา เพราะมีกระดูกของคนที่ตายในที่นั้นๆ ขาวเกลื่อนกลาด. บทว่า สลากวุตฺตา ได้แก่มีชีวิตอยู่ได้เพียงใช้สลาก (บัตรปันส่วน) คือ ความเป็นอยู่ในนาฬันคามนั้น เพียงใช้สลากเท่านั้น อธิบายว่า ให้เกิดผล.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 211

บทว่า อุคฺคิลิตุํ ความว่า เมื่อพระสมณโคดมไม่อาจกล่าวแก้เงื่อนทั้งสองได้ ชื่อว่าไม่อาจคายคือนำออกนอก. บทว่า โอคิลิตุํ ความว่า เมื่อทรงเห็นโทษของคำถามแล้วไม่อาจนำเข้าไป ชื่อว่าไม่อาจกลืนคือให้เข้าไปภายใน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า อิโต โส คามณิ เอกนวุโต กปฺโป เท่านั้น ก็ทรงระลึกไป ๙๑ กัป ชั่วเวลาที่ลมหายใจออกจากจมูกแล้วยังไม่กลับเข้าไป เพื่อกำหนดรู้ว่า ในตระกูลที่เคยถูกเบียดเบียนด้วยการให้ภิกษาที่สุกแล้วมีบ้างไหมหนอ ถึงอย่างนั้น ก็มิได้ทรงเห็นแม้แต่รายเดียว จึงตรัสพระพุทธพจน์เป็นต้นว่า อิโต โส คามณิ ดังนี้. บัดนี้ เมื่อตรัสอานิสงส์ของทานเป็นต้น จึงทรงเริ่มพระธรรมเทศนาว่า อถโข ยานิ ตานิ กุลานิ อทฺธานิ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทานสมฺภูตานิ แปลว่า เป็นพร้อมคือบังเกิดเพราะการให้ทาน. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในบทนี้ ความเป็นคนพูดจริง ชื่อสัจจะ ศีลที่เหลือ ชื่อ สัญญมะ. บทว่า วิกิรติ ความว่า เมื่อได้แต่ใช้โดยไม่ประกอบการงาน ย่อมทำทรัพย์ให้กระจุยกระจาย. บทว่า วิธมติ ความว่า ย่อมให้พินาศเหมือนจุดไฟเผา. บทว่า วิทฺธํเสติ ความว่า ให้พินาศ คือเป็นของเที่ยง คงที่หามิได้ หรือทรัพย์ที่ใช้เวลาเป็นอันมากเก็บรวบรวมไว้ อันตรธานไปชั่วขณะเท่านั้น เพราะมีแล้วไม่มี.

จบ อรรถกถากุลสูตรที่ ๙