พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. คันธภกสูตร ว่าด้วยเหตุเกิดและดับแห่งทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  1 ต.ค. 2564
หมายเลข  37545
อ่าน  524

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 215

๑๑. คันธภกสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดและดับแห่งทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 215

๑๑. คันธภกสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดและดับแห่งทุกข์

[๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปะ นิคมของมัลลกษัตริย์ ในมัลลรัฐ. ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่า คันธภกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนายคามณี ก็เราพึงปรารภอดีตกาล แสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ความสงสัย ความเคลือบแคลงในข้อนั้นจะพึงมีแก่ท่าน ถ้าเราปรารภอนาคตกาลแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอนาคตกาลจักมีอย่างนี้ แม้ในข้อนั้น ความสงสัย ความเคลือบแคลง จะพึงมีแก่ท่าน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 216

อนึ่งเล่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จักแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่าน ซึ่งนั่งอยู่ที่นี้เหมือนกัน ท่านจงฟังคำนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นายคันธภกคามณีทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน มีแก่ท่านหรือ.

คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และอุปายาส พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคม ตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน.

พ. ดูก่อนนายคามณี ก็ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน มีอยู่แก่ท่านหรือ.

คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน.

พ. ดูก่อนนายคามณี อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็หรือว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 217

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือเพราะถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาติอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น ส่วนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ก็จองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์ไม่มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ท่านจงนำไปซึ่งทุกข์อันใดด้วยธรรมที่เห็นแล้วทราบแล้ว บรรลุแล้วโดยไม่ประกอบด้วยกาล หยั่งลงแล้ว ทั้งอดีตและอนาคต ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พระดำรัสนี้ว่า ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาลอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารนามว่าจิรวาสี บุตรของข้าพระองค์มีอยู่ เขาอาศัยอยู่ภายนอกนคร ข้าพระองค์ลุกขึ้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 218

แต่เช้าตรู่ ส่งบุรุษไปด้วย สั่งว่า แน่ะนาย เจ้าจงไปจงทราบกุมารจิรวาสี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นยังไม่มาเพียงใด ความกระวนกระวายใจย่อมมีแก่ข้าพระองค์ว่า อะไรๆ อย่าเบียดเบียนจิรวาสีกุมารเลย ดังนี้ เพียงนั้นๆ.

[๖๒๘] พ. ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนหรือ.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อจิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์ยังมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนเล่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ข้อนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใดท่านไม่ได้เห็นมารดาของจิรวาสีกุมาร ไม่ได้ฟังเสียง เมื่อนั้น ท่านมีความพอใจ ความกำหนัดหรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ.

คา. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะอาศัยการเห็นหรือการฟัง ท่านจึงมีความพอใจ ความกำหนัดหรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 219

คา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารตาย ถูกจำจอง เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนหรือ.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อมารดาของจิรวาสีกุมารมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์พึงมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนเล่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนนายคามณี ท่านพึงทราบความข้อนั้นโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์.

จบ คันธภกสูตรที่ ๑๑

อรรถกถาคันธภกสูตรที่ ๑๑

ในคันธภกสูตรที่ ๑๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มลฺเลสุ ได้แก่ในชนบทชึ่งมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า วเธน แปลว่า ตาย. บทว่า ชานิยา แปลว่า เสื่อมทรัพย์. บทว่า อกาลิเกน ปตฺเตน ความว่า บรรลุในระหว่างกาล คือบรรลุไม่ล่วงเลยกาล หามิได้. บทว่า จิรวาสี นาม กุมาโร ได้แก่บุตรของนายบ้านนั้น มีชื่ออย่างนั้น. บทว่า พหิอาวาสเถ ปฏิวสติ ความว่า อยู่เรียนศิลปะบางอย่างนอกเมือง. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทุกข์ในวัฏฏะ.

จบ อรรถกถาคันธภกสูตรที่ ๑๑