พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เขมาเถรีสูตร ว่าด้วยพระเขมาเถรีพยากรณ์ปัญหา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 ต.ค. 2564
หมายเลข  37555
อ่าน  420

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 280

๑๐. อัพยากตสังยุต

๑. เขมาเถรีสูตร

ว่าด้วยพระเขมาเถรีพยากรณ์ปัญหา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 280

๑๐. อัพยากตสังยุต

๑. เขมาเถรีสูตร

ว่าด้วยพระเขมาเถรีพยากรณ์ปัญหา

[๗๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระเขมาภิกษุณีเมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นโกศล เข้าอยู่ ณ ที่โตรณ วัตถุ ในระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากเมืองสาเกตจะไปยังกรุงสาวัตถี ประทับแรม ๑ ราตรีที่โตรณวัตถุ ระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปดูให้รู้ว่า ณ ที่โตรณวัตถุมีสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งสมควรที่เราจะพึงเข้าไปหา ณ วันนี้หรือไม่ ราชบุรุษนั้นทูลรับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว เที่ยวไปยังโตรณวัตถุจนทั่ว ก็ไม่ได้พบเห็นสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งสมควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะพึงเสด็จเข้าไปหา.

[๗๕๓] ราชบุรุษนั้นได้พบพระเขมาภิกษุณี ซึ่งเข้าอาศัยอยู่ที่โตรณวัตถุ ครั้นพบแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่โตรณวัตถุไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งสมควรที่พระองค์จะพึงเสด็จเข้าไปหาเลย มี


๑. โตรณแปลว่าเสาค่าย หรือเสาระเนียด ณ ที่นี้เข้าใจว่าเป็นค่าย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 281

ภิกษุณีนามว่าเขมา เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระแม่เจ้านั้นมีกิตติศัพท์อันงามฟุ้งขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้าเขมาภิกษุณีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาพระแม่เจ้านั้นเถิด ขอเดชะ.

[๗๕๔] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปหาพระเขมาภิกษุณีถึงที่อยู่ ทรงไหว้พระเขมาภิกษุณีแล้วประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสถามพระเขมาภิกษุณีว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดหรือหนอ. พระเขมาภิกษุณีถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์.

ป. ข้าแต่แม่เจ้า ก็สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ.

ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์.

ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือหนอ.

ข. ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์.

ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 282

ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อีกเหมือนกัน.

[๗๕๕] ป. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ ข้าแต่แม่เจ้า อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานี้.

[๗๕๖] ข. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักขอย้อนถามมหาบพิตรในปัญหาข้อนี้บ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตรพึงทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเกิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรมีนักคำนวณ นักประเมินหรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ หรือว่ามีทรายเท่านี้ร้อยเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้พันเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้แสนเม็ด หรือไม่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 283

ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า

ข. และมหาบพิตรมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้ร้อยอาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้พันอาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสนอาฬหกะ หรือไม่ ขอถวายพระพร.

ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า.

ข. นั่นเพราะเหตุไร ขอถวายพระพร.

ป. ข้าแต่แม่เจ้า เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก.

[๗๕๗] ข. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนมหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใดวิญญาณนั้น อันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 284

ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนมหาบพิตร พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดก็ดี ย่อมไม่เกิดก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ก็ย่อมไม่ควร.

ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี อนุโมทนาภาษิตของพระเขมาภิกษุณี เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงไหว้พระเขมาภิกษุณี ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป.

[๗๕๘] สมัยต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ.

พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์เหมือนกัน.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 285

พ. ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ.

พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์อีกนั่นแหละ.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์อีกนั่นแหละ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พยากรณ์ปัญหาข้อนั้น.

[๗๕๙] พ. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหาบพิตรในปัญหาข้อนั้นบ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตรพึงทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่า เม็ดทรายมีประมาณเท่านี้ ฯลฯ หรือว่ามีทรายประมาณเท่านี้แสนเม็ดหรือไม่.

ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 286

พ. และมหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า มีน้ำเท่านี้อาฬหกะ ฯลฯ หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสนอาฬหกะหรือไม่.

ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร มหาบพิตร.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก พระเจ้าข้า.

[๗๖๐] พ. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนมหาบพิตร ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยากดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อ บัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนมหาบพิตร ตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 287

ดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร.

[๗๖๑] ป. อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวิกา ย่อมเทียบกันได้ เข้ากันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ไปหาพระเขมาภิกษุณี ไต่ถามความข้อนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แม้แม่เจ้ารูปนั้นก็ได้พยากรณ์ความข้อนี้ด้วยบทเหล่านี้ ด้วย พยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้าพระพุทธเจ้า ดุจพระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนกัน น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ เข้ากันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า มีกิจมาก มีกรณียมาก ถ้ากระไร จึงขอทูลลาไปในบัดนี้.

พ. ขอถวายพระพร บัดนี้ มหาบพิตรทรงทราบกาลอันสมควรเถิด ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป.

จบ เขมาเถรีสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 288

อรรถกถาอัพยากตสังยุต

อรรถกถาเขมาเถรีสูตรที่ ๑

อัพยากตสังยุต สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เขมา ได้แก่อุบาสิกาของพระเจ้าพิมพิสาร เวลาเป็นคฤหัสถ์เป็นคนมีศรัทธา บวชแล้วเป็นพระมหาเถรี ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะทางมีปัญญามาก โดยพระพุทธพจน์อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก ภิกษุณีเขมาเป็นยอด บทว่า ปณฺฑิตา ได้แก่ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า พฺยตฺตา ได้แก่ประกอบด้วยความเป็นผู้เฉียบแหลม. บทว่า เมธาวินี ได้แก่ประกอบด้วยปัญญาเครื่องกำจัดกิเลส. บทว่า พหุสฺสุตา ได้แก่ประกอบด้วยความเป็นพหูสูต ทั้งทางปริยัตติ ทั้งทางปฏิเวธ.

บทว่า คณโก ได้แก่เป็นผู้ฉลาดคำนวณสิ่งที่ไม่แยกกัน (นับประมวล). บทว่า มุทฺทิโก ได้แก่เป็นผู้ฉลาดคำนวณด้วยแหวนมีอยู่ที่นิ้วมือ (นับประเมิน). บทว่า สํขายโก ได้แก่เป็นผู้ฉลาดคำนวณสิ่งที่เป็นก้อน (นับประมาณ). บทว่า คมฺภีโร ได้แก่ลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์. บทว่า อปฺปเมยฺโย ได้แก่ประมาณโดยคำนวณเป็นอาฬหกะไม่ได้. บทว่า ทุปฺปรโยคาโห ได้แก่หยั่งลงเพื่อถือเอาประมาณโดยคำนวณเป็นอาฬหกะได้ยาก. บทว่า เยน รูเปน ตถาคตํ ความว่า พึงบัญญัติตถาคตกล่าวคือสัตว์ว่า สูง ต่ำ ดำ ขาว ดังนี้ ด้วยรูปใด. บทว่า ตํ รูปํ ตถา-

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 289

คตสฺส ปหีนํ ความว่า รูปมีประการดังกล่าวแล้ว พระตถาคตผู้สัพพัญญูละได้แล้ว ด้วยการละตัณหา. บทว่า รูปสํขยา วิมุตฺโต ความว่า พ้นจากการรับรองว่าเป็นรูปต่อไป โดยส่วนแห่งรูปและอรูปบ้าง จากการบัญญัติว่า รูป เพราะระงับแม้โวหารว่า จักมีถึงปานนี้ ดังนี้บ้าง. บทว่า คมฺภีโร ได้แก่ลึกเพราะความลึกทางอัธยาศัยด้วย เพราะความลึกทางคุณธรรมด้วย อธิบายว่า เมื่อพระตถาคตผู้ลึกทางคุณธรรมนั้นมีอยู่อย่างนี้. คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ตถาคตกล่าวคือสัตว์นี้ ย่อมมี นี้ ย่อมไม่เหมาะ ย่อมไม่ควร แม้คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ตถาคตย่อมไม่มี เป็นต้น ย่อมไม่เหมาะ ย่อมไม่ควร แก่พระตถาคตผู้สัพพัญญู ผู้ทรงเห็นความไม่มีแห่งบัญญัตินั้น เพราะไม่มีข้อที่เป็นเหตุให้มีบัญญัติว่า ตถาคตกล่าวคือสัตว์ เป็นต้น.

บทว่า สํสนฺทิสฺสติ ได้แก่จักมีอย่างนี้. บทว่า สเมสฺสติ ได้แก่จักมีติดต่อ. บทว่า น วิหายิสฺสติ ได้แก่จักไม่มีศัพท์ที่ผิดพลาด. ก็เทศนาว่า อคฺคปทสฺมึ ในที่นี้ ทรงประสงค์บทที่สำคัญ. แต่บทนี้ ตรัสโดยอธิการแห่งอัพยากตธรรม ซึ่งกล่าวไว้พิสดารแล้วในขันธิยวรรค ที่ ๒ นั่นแล.

จบ อรรถกถาเขมาเถรีสูตรที่ ๑