ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๘

 
khampan.a
วันที่  3 ต.ค. 2564
หมายเลข  37557
อ่าน  1,469

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๘
* *




~
พุทธะ เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ไม่ใช่ผู้หลง ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ ไม่ใช่ผู้หลับ เพราะฉะนั้น ความรู้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พุทธะ คือ ผู้รู้ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

~ สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้แหละ เป็นสิ่งที่รู้ได้ตามความเป็นจริง คือ สิ่งนั้นเกิดขึ้นจึงปรากฏว่ามี

~ สิ่งที่มีจริงขณะนี้ทั้งหมดเป็นธรรม ศึกษาธรรมคือศึกษาสิ่งที่มีจริง จนเป็นความรู้ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริง

~ ในพระไตรปิฎกจะเป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย จะไม่พ้นไปจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้โดยละเอียดจึงทรงแสดงว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรม ทรงตรัสรู้ความจริงแล้วทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงทำให้บุคคลที่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงสามารถที่จะรู้ความจริงนั้นได้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสากลจักรวาล คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงพระธรรม และผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจก็สามารถที่จะรู้ตามได้ จึงมีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ

~ ท่านผู้ฟังที่เป็นห่วงความเสื่อมสูญของพระสัทธรรม ควรที่จะพิจารณาตั้งแต่ในขั้นของการฟังพระธรรมและการเป็นผู้ว่าง่าย เพราะการที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่ฟังพระธรรมหรือไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่แม้กระนั้นในขณะที่ฟังพระธรรม จะดำรงพระสัทธรรมไว้ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง

~ ความเข้าใจเท่านั้น ที่จะดำรงพระศาสนาไว้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ก็ส่งต่อๆ กันไปเท่าที่มีโอกาส ก็จะทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้ว ก็ลบเลือนไป ไม่ได้ประโยชน์ที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์


~ ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายากหรือสอนยาก ย่อมจะไม่รับฟังคำสอน มีความขัดเคือง เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไป หรืออาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้ละคลายกิเลส เพราะไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่กล่าวสอนหรือพร่ำสอน

~ ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ ย่อมค้นหาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่รู้ดี และในขณะเดียวกัน ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะว่าอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น และเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น

~ ถ้าพูดถึงความไม่โกรธ ความเป็นมิตรหรือความหวังดี ทุกคนต้องการ ใช่ไหม? ต้องการเพื่อนที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน เป็นคนดีเพื่อที่จะได้เป็นเพื่อนที่ดีของทุกคน ไม่ใช่เพียงหวังว่าอยากจะพบคนดี แล้วจะไปหาคนดีที่ไหน ถ้าตนเองไม่ดี

~ ขณะใดที่เมตตาเกิดขึ้นจริงๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ทั้งกาย วาจา ใจ ก็ย่อมจะประกอบด้วยเมตตา แม้แต่ขณะที่ไม่เห็น เพียงแต่วันหนึ่งๆ คิดถึงว่าจะทำประโยชน์ให้กับใคร หวังประโยชน์เกื้อกูล คิดในทางที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นก็เป็นเมตตาโดยที่ไม่ต้องท่อง

~ ควรพิจารณาความโกรธในชีวิตประจำวันของท่านว่า ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร โดยมากเกิดจากการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ถ้าบุคคลทั้งหลายทำดี ก็จะไม่มีใครโกรธใคร แต่ว่าเพราะว่าทุกคนยังมีอกุศล ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่ก็สามารถจะพิจารณาได้ในบุคคลต่างๆ ว่า เป็นผู้ที่มีคุณหรือเป็นผู้ที่ไม่มีคุณ ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณกระทำ ก็อย่าโกรธเลย ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีคุณต่อเรา ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีคุณ ก็ยิ่งน่าสงสาร ไม่มีคุณอะไรเลย แล้วก็ยังทำสิ่งที่ไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลจิตเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะ ก็จะทำให้เพิ่มความอดทนขึ้น

~ เป็นคนดีหรือเปล่า? เป็นคนไม่ดี มีประโยชน์ต่อสังคมไหม?
มีประโยชน์ต่อตัวเองไหม? มีประโยชน์ต่อคนรอบข้างไหม?


~ ถึงแม้ว่าจะทำทุจริตใดๆ มา แต่ว่าถ้าฟังธรรม มีความเข้าใจ พระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยให้เขาทิ้งความเห็นผิดหรือความประพฤติผิดได้

~ ถึงเขาจะเป็นใครก็ตาม ดีชั่วประการใดก็ตาม ถ้าเขาสะสมมาที่จะเข้าใจ เขาสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่า คำของพระองค์แม้เพียงคำเดียวไม่นำโทษไปให้ใครเลย พระคุณแค่ไหน?

~ ต้องเป็นคนตรงอย่างยิ่ง ผิดแล้วแก้ได้ นี่คือ คำที่ทุกคนควรใส่ใจ ไม่ว่าจะอาชีพใด ตำแหน่งใด ฐานะใด การงานใด “ผิดแล้วแก้” ถ้าไม่แก้ ตลอดชีวิตก็จมดิ่งลงไปในความผิดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เราพูด เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สนทนากัน เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สิ่งใดที่ผิดไม่เป็นประโยชน์ ก็จะได้ทิ้ง ไม่ว่าเขาเป็นใคร

~ หงุดหงิด ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่หงุดหงิด ก็นำประโยชน์มากมายมาให้ทั้งกับตัวเองและคนอื่นด้วย คนอื่นจะไม่ได้ยินเสียงบ่นหรือเสียงอะไรที่ไม่น่าฟังเพราะความหงุดหงิด และตัวของผู้นั้นเอง ก็มีจิตใจปลอดโปร่ง

~ จะแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างได้ ก็ต้องด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีความเข้าใจ ยิ่งแก้ ก็ยิ่งผิดผิดกันไปใหญ่

~ ความจริงควรพูดไหม? เพื่ออะไร? เพื่อให้เข้าใจถูก เพราะว่า ความเข้าใจผิด เป็นอันตรายอย่างยิ่ง จะผิดไปตลอดและเพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นภัยอย่างยิ่งกับบุคคลนั้นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดในสิ่งที่ถูกต้องตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นผู้ที่หวังดี ไม่ใช่หวังร้ายเลย เพราะพูดสิ่งที่ถูกแล้วจะหวังร้ายได้อย่างไร ให้รีบแก้ไขเสีย ยังมีโอกาส ยังมีเวลา ถ้าไม่แก้เดี๋ยวนี้ ต่อไปจะยิ่งหนักหนาสากรรจ์ (ร้ายแรง) แค่ไหน ที่จะจมลงไปในความมืดในความไม่รู้

~ ไม่ว่าใคร ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้สึกตัวเองได้เลยว่า เข้าใจธรรมยังไม่พอจนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง เมื่อความจริง คือ ไม่มีเรา แต่เวลานี้ จำก็เป็นเรา อร่อยก็เป็นเรา คิดก็เป็นเรา ชอบก็เป็นเรา เราหมดเลย เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะเข้าใจในความจริงของแต่ละหนึ่งเพิ่มขึ้นจนค่อยๆ เข้าใจถูกต้อง ว่า ไม่ใช่เรา ต้องอาศัยความเป็นผู้ตรง ว่า สิ่งใดถูก เป็นความจริงถึงที่สุด ควรจะละเลยไหม? ความจริงถึงที่สุดนั้น แสนไกลและแสนยาก ลึกซึ้ง แต่เป็นไปได้ ด้วยความอดทน มีวิริยะ ความพากเพียรที่จะไม่ละเลยต่อการที่จะเข้าใจขึ้น เพราะมีการตระหนักว่า รู้แค่นี้ไม่พอ ไม่มีการพอเลย จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งความจริงได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่เมื่อได้ไตร่ตรองแล้ว ก็รู้ว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งจะติดตามไปได้ ไม่ใช่เฉพาะชาติหน้าชาติเดียว ยัง
(ติดตาม) ทุกๆ ชาติต่อไป คือ การได้เริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียดอย่างยิ่ง ที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

~ ความวุ่นวายทั้งหลาย ปัญหาทั้งหลาย และเรื่องทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทั้งหมด มาจากกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าจะดับทุกข์และปัญหาทั้งหมด ก็ต้องดับกิเลส แต่ว่า ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่มีอะไรที่จะไปดับกิเลสได้เลย



* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๗



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 3 ต.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 3 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 3 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
panasda
วันที่ 3 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lai
วันที่ 3 ต.ค. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 4 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
มังกรทอง
วันที่ 19 ต.ค. 2564

ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ ย่อมค้นหาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่รู้ดี และในขณะเดียวกัน ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะว่าอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น และเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
มังกรทอง
วันที่ 19 ต.ค. 2564

ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายากหรือสอนยาก ย่อมจะไม่รับฟังคำสอน มีความขัดเคือง เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไป หรืออาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้ละคลายกิเลส เพราะไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่กล่าวสอนหรือพร่ำสอน

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
มังกรทอง
วันที่ 7 พ.ย. 2564

ท่านผู้ฟังที่เป็นห่วงความเสื่อมสูญของพระสัทธรรม ควรที่จะพิจารณาตั้งแต่ในขั้นของการฟังพระธรรมและการเป็นผู้ว่าง่าย เพราะการที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่ฟังพระธรรมหรือไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่แม้กระนั้นในขณะที่ฟังพระธรรม จะดำรงพระสัทธรรมไว้ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ