พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตร ว่าด้วยพระโกฏฐิตะถามปัญหาพระสารีบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ต.ค. 2564
หมายเลข  37562
อ่าน  374

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 296

๓. ปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตร

ว่าด้วยพระโกฏฐิตะถามปัญหาพระสารีบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 296

๓. ปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตร

ว่าด้วยพระโกฏฐิตะถามปัญหาพระสารีบุตร

[๗๗๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิตะออกจากที่หลีกเร้น ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่าน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 297

พระสารีบุตรว่า ดูก่อนท่านพระสารีบุตร สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ. ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูก่อนท่าน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์.

ม. ดูก่อนท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ.

ส. ดูก่อนท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์.

ม. ดูก่อนท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ.

ส. ดูก่อนท่าน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อีกเหมือนกัน.

ม. ดูก่อนท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ.

ส. ดูก่อนท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อีกเหมือนกัน.

ม. ดูก่อนท่าน เมื่อผมถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูก่อนท่าน ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เมื่อผมถามว่า ดูก่อนท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ดูก่อนท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์อีกเหมือนกัน ดูก่อนท่าน อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 298

[๗๗๒] ดูก่อนท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงรูป ดูก่อนท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงเวทนา ดูก่อนท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงสัญญา ดูก่อนท่าน คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงสังขาร คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงวิญญาณ ดูก่อนท่าน นี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น.

จบ ปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 299

อรรถกถาปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓

ในปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า รูปคตเมตํ ได้แก่เป็นเพียงรูปเท่านั้น. ในบทนี้ ท่านพระสารีบุตรแสดงว่า ใครๆ นอกจากรูปย่อมได้รับนามว่าสัตว์ ฉะนั้น เมื่อไม่มีรูป สิ่งนั้นย่อมเป็นเพียงนามเท่านั้น. แม้ในบทว่า เวทนาคตเมตํ เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ บทว่า อยํ โข อาวุโส เหตุ ความว่า นี้คือ สภาวะที่ไม่ควรได้รับ (ชื่อ) เพราะพ้นรูปเป็นต้น เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น.

จบ อรรถกถาปฐมสารีปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓