ลักษณะของเจตสิกปรมัตถ์ ...
เจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามปรมัตถ์ประเภทหนึ่ง เกิดร่วมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต ฯลฯ
ที่ว่า เกิดพร้อมกับจิต ฟังดูก็ชัดเจนดี สำหรับผม แต่ที่ว่ารู้อารมณ์เดียวกับจิตฟังดูนิยามมันชวนให้รู้สึกเหมือนจิต ถ้าผมจะกล่าวว่า จิต เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เจตสิกเป็นคุณสมบัติ เป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นแล้วให้เกิดพร้อมกับจิตดวงนั้นๆ ถูกต้องหรือไม่ครับ
กล่าวโดยเฉพาะ เช่น โทสเจตสิก ที่เกิดกับจิตดวงหนึ่งด้วยอารมณ์หนึ่ง กับโทสเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตอีกดวงหนึ่ง ด้วยอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของโทสเจตสิกก็ไม่ต่างกันใช่หรือไม่ ทั้งที่อารมณ์ของจิตต่างกัน
โดยบัญญัติธรรมที่กล่าวว่า โกรธมาก โกรธน้อย โดยปรมัตถธรรมต่างกันอย่างไรโกรธมากเป็นสภาพที่โทสมูลจิตเกิดสืบต่อกันนานกว่า หรือเป็นสภาพที่โทสเจตสิกเข้มกว่า คำถามเปรียบได้กับคำถามที่ว่าเสียงดัง เสียงเบาต่างกันอย่างไร ต่างตรงที่เสียงเกิดขึ้นแรง หรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือโทสเจตสิกแต่ละดวงมีความแรงเฉพาะดวงแตกต่างกัน
คำจำกัดความหรืออรรถของเจตสิกที่ถูกต้อง คือ ธรรมชาติที่เกิดในจิตที่มีลักษณะ๔ อย่างคือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกาลัมพนะ เอกวัตถุกะ สำหรับปัญหาลักษณะของโทสะ เกิดต่างขณะหรือมีอารมณ์ต่างกัน โดยลักษณะของโทสะ ไม่ต่างกัน แต่กำลังของโทสะต่างๆ กันได้ ตามการสะสม ซึ่งรวมถึงการโกรธบ่อย การโกรธนานด้วย ทำให้กำลังของโทสะต่างๆ กันเปรียบเหมือนสุราต่างประเภทกัน ทั้งหมดคือสุรา แต่ดีกรี ของสุราต่างกัน
เรื่อง ระดับของโทสะ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 488 ข้อความบางตอนจาก อรรถกถา วีณาสูตร
ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถ เพื่อจะถือท่อนไม้ เป็นต้นได้ ชื่อว่าโทสะ. ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่า ปฏิฆะ.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 253 (๑) โกธะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือ ความเดือดดาลหรือความดุร้าย มีหน้าที่คือผูกอาฆาต (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความประทุษร้าย
(๒) อุปนาหะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความผูกโกรธ มีหน้าที่ คือ ไม่ยอมสลัดทิ้งการจองเวร (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือโกรธติดต่อเรื่อยไป สมด้วยคำที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้อย่างนี้ว่า โกธะเกิดก่อน อุปนาหะจึงเกิดภายหลัง เป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 137 ข้อความบางตอนจาก จักกวัตติสูตร
จริงอยู่ความโกรธ ย่อมทำจิตให้ผูกอาฆาต เหตุนั้นจึงชื่อว่า อาฆาต. ความโกรธย่อมทำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขของตน และบุคคลอื่นให้เสียหาย เหตุนั้นจึงชื่อว่า พยาบาท จะกล่าวว่า ความประทุษร้ายแห่งใจก็ได้ เพราะประทุษร้ายใจ.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
ความโกรธที่มีกำลังต่างกัน [ธนิยสูตร]
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย