[คำที่ ๕๒๙] นิธิอาจิกฺขนก
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นิธิอาจิกฺขนก ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า นิธิอาจิกฺขนก อ่านตามภาษาบาลีว่า นิ - ทิ- อา - จิก - ขะ - นะ - กะ มาจากคำว่า นิธิ (ขุมทรัพย์, สิ่งที่มีค่า) กับคำว่า อาจิกฺขนก (บุคคลผู้บอก, บุคคลผู้ชี้) รวมกันเป็น นิธิอาจิกฺขนก แปลว่า บุคคลผู้บอกขุมทรัพย์, บุคคลผู้ชี้ขุมทรัพย์ เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เปรียบเทียบว่าบุคคลผู้ที่ชี้ให้ผู้อื่นได้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริง มุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่นให้ได้ถอยกลับจากสิ่งที่ผิดแล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก เป็นเหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์คือบอกสิ่งที่มีค่าให้ ที่ควรจะได้น้อมรับในความหวังดีของผู้นั้นจริงๆ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาทพร่ำสอนว่าเป็นเหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้
“บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวชี้โทษว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้นซึ่งเป็นบัณฑิต เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ต่ำทราม”
ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีดังนี้ :
คนเข็ญใจ ถูกผู้อื่นคุกคามก็ดี ตีก็ดี แต่ชี้ขุมทรัพย์ให้ว่า “เจ้าจงถือเอาทรัพย์นี้” ย่อมไม่ทำความโกรธ มีแต่ปราโมทย์อย่างเดียว ฉันใด; เมื่อบุคคลเห็นปานดังนั้น เห็นมารยาทมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี แล้วบอกอยู่ ผู้รับบอก ไม่ควรทำความโกรธ แต่ควรเป็นผู้ยินดีอย่างเดียว ฉันนั้น ควรปวารณา (เปิดโอกาสให้ตักเตือนได้) ทีเดียวว่า “ท่านเจ้าข้า กรรมอันใหญ่อันท่านผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ของกระผมแล้ว สั่งสอนอยู่ กระทำแล้ว แม้ต่อไป ท่านพึงโอวาทกระผมอีก”
ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ ความติดข้อง ยินดีพอใจ โทสะความโกรธความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ โมหะความหลงความไม่รู้เป็นต้น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจเป็นธรรมดา เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เช่น รับเงินทอง พูดตลกคะนอง เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็มีการล่วงศีล ทำทุจริตกรรม ประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์เป็นต้น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล เป็นโทษ
ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ที่สำคัญคือทำผิดแล้วจะรู้สึกตัวหรือเปล่าว่าเป็นผู้ทำผิด บุคคลผู้ที่มีปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงพร้อมทั้งมีเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี เพื่อที่จะให้รู้ถึงโทษนั้นตามความเป็นจริงว่าโทษ เป็นโทษ ท่านย่อมจะมีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อบุคคลผู้หลงผิดผู้กระทำผิดประการต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลแล้วตั้งมั่นในกุศล เมื่อคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโทษ บุคคลผู้มุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่น จึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำตักเตือน ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ กล่าวให้ได้เข้าใจตามความเป็นจริง เป็นการกล่าวให้ได้รู้ถึงโทษของความประพฤติที่ไม่ดีนั้นตามความเป็นจริง กระจายความจริงให้ได้รู้ในทุกที่ทุกสถาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำจากคำเตือนที่เป็นประโยชน์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้น แล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของตนเอง โดยเป็นผู้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ละทิ้งสิ่งที่ไม่ดีสะสมแต่สิ่งที่ดีงามต่อไป และอีกประการหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง แต่เมื่อได้เข้าใจความจริงแล้วก็จะไม่ส่งเสริมในสิ่งที่ผิดไม่เห็นดีเห็นงามไปกับสิ่งที่ผิดนั้น เช่น เมื่อได้เข้าใจแล้วว่าพระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ก็ไม่ถวายเงินให้แก่พระภิกษุ เพราะการถวายเงินแก่พระภิกษุ เป็นเหตุให้พระภิกษุล่วงละเมิดพระวินัย เท่ากับผลักพระภิกษุให้ลงอบายภูมิ หรือแม้กระทั่งในกรณีที่ภิกษุพูดตลกคะนอง เมื่อตนเองได้เข้าใจถูกต้องแล้ว ก็ไม่เห็นด้วย ไม่ส่งเสริมในสิ่งที่ผิด และยังสามารถเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วยว่า พระภิกษุ จะพูดตลกคะนองไม่ได้โดยประการทั้งปวง เพราะขณะที่พูดตลก ใจสกปรกด้วยอกุศล ไม่ใช่ความประพฤติของพระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองเลยแม้แต่น้อย
โดยปกติถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ในเมื่อตนทำผิด พูดผิด เมื่อมีบุคคลอื่นคอยตักเตือนคอยชี้ให้เห็นถึงความผิด ก็ย่อมจะเป็นผู้มีปกติชอบใจต่อผู้คอยตักเตือนนั้น เปรียบเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะถ้าไม่เตือนด้วยพระธรรมแล้วใครจะเตือน บุคคลผู้ที่คอยตักเตือนนั้นเป็นบัณฑิต เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนี้ย่อมจะพบแต่คุณอันประเสริฐอย่างเดียว จะไม่พบกับความเสื่อมเลย เพราะเป็นผู้เกื้อกูลให้ห่างไกลจากความประพฤติที่ผิดทั้งหลาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก ย่อมจะไม่รับฟังคำพร่ำสอน มีความโกรธขัดเคืองใจ เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไปจากคำสอนที่ถูกต้อง หรืออาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้ละคลายกิเลสเลย เพราะไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเองและไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่พร่ำสอน ย่อมจะเป็นผู้ทำผิดต่อไป หมักหมมพอกพูนสิ่งสกปรกลงในจิตต่อไปอีก ยากที่จะแก้ไขได้
ข้อที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ บุคคลผู้ที่ฉลาดย่อมเป็นผู้ค้นหากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วยกับความดีของผู้นั้น และค้นหาโทษของตนเองว่าตนเองมีโทษอะไรบ้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะว่าได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่น และได้เห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ เพื่อที่จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น
จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศลโดยตลอด รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ ให้เวลากับสิ่งที่ประเสริฐที่สุดนี้ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ