พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ทุติยสมณพราหมณสูตร ผู้รู้ชัดถึงความเกิดของอินทรีย์ ๕ นับว่าเป็นสมณพราหมณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37917
อ่าน  418

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 5

๗. ทุติยสมณพราหมณสูตร

ผู้รู้ชัดถึงความเกิดของอินทรีย์ ๕ นับว่าเป็นสมณพราหมณ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 5

๗. ทุติยสมณพราหมณสูตร

ผู้รู้ชัดถึงความเกิดของอินทรีย์ ๕ นับว่าเป็นสมณพราหมณ์

[๘๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดซึ่งสัทธินทรีย์ ความเกิดแห่งสัทธินทรีย์ ความดับแห่งสัทธินทรีย์ และปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งสัทธินทรีย์ ไม่รู้ชัดซึ่งวิริยินทรีย์ ฯลฯ สตินทรีย์ ฯลฯ สมาธินทรีย์ ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เราไม่นับว่าเป็นสมณะในพวกสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในพวกพราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นยังไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะหรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 6

[๘๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดซึ่งสัทธินทรีย์ ความเกิดแห่งสัทธินทรีย์ ความดับแห่งสัทธินทรีย์ และปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัทธินทรีย์ รู้ชัดซึ่งวิริยินทรีย์... สตินทรีย์... สมาธินทรีย์... รู้ชัดซึ่งปัญญินทรีย์ ความเกิดแห่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์ สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น เรานับว่าเป็นสมณะในพวกสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในพวกพราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะและของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

จบทุติยสมณพราหมณสูตรที่ ๗

อรรถกถาทุติยสมณพราหมณสูตร

สูตรที่ ๗.

คำว่า ไม่รู้ชัดซึ่งสัทธินทรีย์ คือ ไม่เข้าใจด้วยอำนาจแห่งทุกขสัจ.

คำว่า ไม่รู้ชัดซึ่งความเกิดขึ้นแห่งสัทธินทรีย์ คือ ไม่เข้าใจชัดด้วยอำนาจสมุทยสัจ ไม่เข้าใจชัดนิโรธด้วยสามารถแห่งนิโรธสัจ ไม่เข้าใจชัดทางปฏิบัติ ด้วยอำนาจมรรคสัจ อย่างนี้แล.

แม้ในคำที่เหลือก็นัยนี้แหละ.

ส่วนในฝ่ายขาว การเกิดขึ้นพร้อมแห่งสัทธินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจอธิโมกข์ (การน้อมใจเชื่อ).

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งวิริยินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจการประคับประคองจิตไว้.

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งสตินทรีย์ ย่อมมีได้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 7

ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจการเข้าไปตั้งจิตใจ (การปรากฏ).

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งสมาธินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจความไม่ซัดส่าย (ไม่ฟุ้งซ่าน).

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งปัญญินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจทรรศนะ (ความเห็น).

อีกอย่างหนึ่ง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งสัทธินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจฉันทะ (ความพอใจ).

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจฉันทะ.

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งสัทธินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจมนสิการ (การใส่ใจ).

การเกิดขึ้นพร้อมแห่งวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ย่อมมีได้ด้วยการเกิดขึ้นพร้อมแห่งการพิจารณาด้วยอำนาจมนสิการ.

พึงทราบใจความแม้ด้วยประการฉะนี้.

ใน ๖ สูตรตามลำดับเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงเกี่ยวกับสัจจะสี่ประการนั่นเอง.

จบอรรถกถาทุติยสมณพราหมณสูตรที่ ๗