๘. ทัฏฐัพพสูตร ว่าด้วยการเห็นอินทรีย์ ๕ ในธรรมต่างๆ
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 8
๘. ทัฏฐัพพสูตร
ว่าด้วยการเห็นอินทรีย์ ๕ ในธรรมต่างๆ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 8
๘. ทัฏฐัพพสูตร
ว่าด้วยการเห็นอินทรีย์ ๕ ในธรรมต่างๆ
[๘๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์.
[๘๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า. ในโสตาปัตติยังคะ ๔ พึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมนี้.
[๘๕๔] ก็จะพึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมไหนเล่า. ในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมนี้.
[๘๕๕] ก็จะพึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมไหนเล่า. ในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมนี้.
[๘๕๖] ก็จะพึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า. ในฌาน ๔ พึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมนี้.
[๘๕๗] ก็จะพึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมไหนเล่า. ในอริยสัจ ๔ พึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล.
จบทัฏฐัพพสูตรที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 9
อรรถกถาทัฏฐัพพสูตร
สูตรที่ ๘.
คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นว่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เพื่อทรงชี้ความที่อินทรีย์เหล่านี้สำคัญที่สุดในวิสัย (อารมณ์) ของตน.
เหมือนอย่างว่า ลูกชายเศรษฐี ๔ คน ในเมื่อกลุ่มเพื่อนซึ่งมีพระราชาธิราชเป็นที่ ๕ หยั่งลงสู่ถนน ด้วยคิดว่า พวกเราจะเล่นงานนักษัตรฤกษ์ เวลาไปถึงเรือนลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง นอกนี้ ๔ คนก็นั่งนิ่ง. เจ้าของเรือนเท่านั้นที่ได้เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยว ของกิน แก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้. ครั้นเวลาไปถึงเรือนคนที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ อีก ๔ คนนอกนี้ ก็นั่งนิ่ง. เจ้าของเรือนเท่านั้นที่ได้เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยว ของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้.
ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่ออินทรีย์ที่มีศรัทธาเป็นที่ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นในอารมณ์อันเดียวกันเหมือนเมื่อพวกเพื่อนเหล่านั้น หยั่งลงสู่ถนนไปด้วยกัน เมื่อไปถึงโสดาปัตติยังค์ (ส่วนประกอบแห่งการถึงกระแส) สัทธินทรีย์ซึ่งมีการน้อมลงเชื่อเป็นลักษณะเท่านั้น ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสัทธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนของคนแรก อีก ๔ คน นั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น.
เมื่อมาถึงความเพียรชอบ วิริยินทรีย์ซึ่งมีความประคับประคองเป็นลักษณะเท่านั้น ที่มาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามวิริยินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๒ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 10
ครั้นมาถึงสติปัฏฐาน สตินทรีย์ซึ่งมีการเข้าไปปรากฏเป็นลักษณะเท่านั้น ที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสตินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๓ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น.
ครั้นถึงเรื่องฌาน และวิโมกข์ สมาธินทรีย์ที่มีลักษณะไม่ซัดส่ายเท่านั้น เป็นใหญ่เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสมาธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๔ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น.
แต่ท้ายสุดเมื่อถึงอริยสัจ ปัญญินทรีย์ที่มีลักษณะรู้ชัดเท่านั้น ย่อมเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามปัญญินทรีย์นั้น เหมือนเวลาไปถึงพระราชวัง ๔ คนนอกนี้ นั่งนิ่ง พระราชาเท่านั้น ย่อมทรงเที่ยวสั่งงานในพระตำหนัก ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถาทัฏฐัพพสูตรที่ ๘