พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมวิภังคสูตร ว่าด้วยความหมายของอินทรีย์ ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37919
อ่าน  373

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 10

๙. ปฐมวิภังคสูตร

ว่าด้วยความหมายของอินทรีย์ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 10

๙. ปฐมวิภังคสูตร

ว่าด้วยความหมายของอินทรีย์ ๕

[๘๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์.

[๘๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไป

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 11

ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า สัทธินทรีย์.

[๘๖๐] ก็วิริยินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า วิริยินทรีย์.

[๘๖๑] ก็สตินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตัวอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งกิจที่กระทำและคำที่พูดแม้นานได้ นี้เรียกว่า สตินทรีย์.

[๘๖๒] ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า สมาธินทรีย์.

[๘๖๓] ก็ปัญญินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องกำหนดความเกิด ความดับ อันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญินทรีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล.

จบปฐมวิภังคสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 12

อรรถกถาปฐมวิภังคสูตร

สูตรที่ ๙.

ในบทว่า สติเนปกฺเกน นี้ หมายถึง ความเป็น คือ ปัญญาเครื่องรักษาตัว.

คำว่า ปัญญาเครื่องรักษาตัว นี้ เป็นชื่อของปัญญา.

ถามว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเรียกปัญญา ในภาชนะ (ที่รองรับ) แห่งสติเล่า.

ตอบว่า เพื่อทรงแสดงถึงสติที่มีกำลัง จริงอย่างนั้น ในที่นี้ พระองค์ทรงหมายเอาแต่สติที่มีกำลังเท่านั้น.

ก็เมื่อจะทรงแสดงถึงสติที่ประกอบด้วยปัญญาว่า สติที่ประกอบด้วยปัญญานั้น เป็นสติที่มีกำลัง ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาย่อมไม่มีกำลัง จึงได้ตรัสอย่างนี้.

คำว่า จิรกตํ คือ ทาน ศีล หรืออุโบสถกรรมที่ได้ทำมาสิ้นกาลนานแล้ว.

คำว่า จิรภาสิตํ ความว่า ในที่โน้น ได้พูดคำชื่อโน้นเท่านั้น. คำพูดอันบุคคลพึงพูดในเวลาที่นานอย่างนี้.

คำว่า โวสฺสคฺคารมฺมณํ กริตฺวา คือ ทำนิพพานเป็นอารมณ์.

คำว่า อุทยตฺถคามินิยา คือ ถึงความเกิดขึ้น และความดับไป หมายความว่า ที่กำหนดถือเอาทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป.

ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่โลกุตระที่ให้เกิดสัทธินทรีย์ สตินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อันเป็นส่วนเบื้องต้น สมาธินทรีย์ที่เจือกับวิริยินทรีย์ไว้เท่านั้น.

จบปฐมวิภังคสูตรที่ ๙