พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ทุติยสังขิตตสูตร ความต่างแห่งผลเพราะความต่างแห่งอินทรีย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37923
อ่าน  396

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 19

๓. ทุติยสังขิตตสูตร

ความต่างแห่งผลเพราะความต่างแห่งอินทรีย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 19

๓. ทุติยสังขิตตสูตร

ความต่างแห่งผลเพราะความต่างแห่งอินทรีย์

[๘๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล.

[๘๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นพระอรหันต์ เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้เต็มบริบูรณ์ เป็นพระอนาคามี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระอรหันต์ เป็นพระสกทาคามี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระอนาคามี เป็นพระโสดาบัน เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระสกทาคามี เป็นพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันผู้สัทธานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารี ดังพรรณนามาฉะนี้ ความต่างแห่งผลย่อมมีได้เพราะความต่างแห่งอินทรีย์ ความต่างแห่งบุคคลย่อมมีได้เพราะความต่างแห่งผล.

จบทุติยสังขิตตสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 20

อรรถกถาทุติยสังขิตตสูตร

สูตรที่ ๓.

คำว่า ตโต คือ พึงทราบความคละปนกันด้วยอำนาจผล.

จริงอยู่ อินทรีย์ทั้งห้าที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็ย่อมชื่อว่าเป็นอินทรีย์ของอรหัตตผล. บุคคลที่ประกอบด้วยอรหัตตผล ก็เป็นพระอรหันต์ ที่อ่อนกว่านั้น ก็ย่อมชื่อว่าเป็นอินทรีย์ของอนาคามิผล ฯลฯ ที่อ่อนกว่านั้น ก็เป็นอินทรีย์ของโสดาปัตติผล. บุคคลที่ประกอบด้วยโสดาปัตติผล ก็เป็นพระโสดาบัน.

ความเป็นต่างๆ ของผล ย่อมมีเพราะความเป็นต่างๆ ของอินทรีย์. ความแตกต่างของบุคคล ย่อมมีเพราะความแตกต่างของอินทรีย์ เพราะความแตกต่างกันของผล.

จบอรรถกถาทุติยสังขิตตสูตรที่ ๓