พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สูกรขาตาสูตร ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37968
อ่าน  380

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 96

๘. สูกรขาตาสูตร

ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 96

๘. สูกรขาตาสูตร

ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ

[๑๐๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ ใกล้กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระองค์ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

[๑๐๕๓] ท่านสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต.

[๑๐๕๔] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤตินอบน้อมในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

[๑๐๕๕] ดูก่อนสารีบุตร ก็ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ภิกษุขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคตนั้น เป็นไฉน.

[๑๐๕๖] สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญวิริยินทรีย์... สตินทรีย์... สมาธินทรีย์... ปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 97

[๑๐๕๗] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

[๑๐๕๘] ดูก่อนสารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่ง ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต เป็นไฉน.

[๑๐๕๙] สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในพระตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

[๑๐๖๐] พ. ถูกละๆ สารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

จบสูกรขาตาสูตรที่ ๘

อรรถกถาสูกรขาตาสูตร

สูตรที่ ๘.

คำว่า สูกรขาตายํ คือ ในที่เร้นที่หมูขุดไว้.

เล่ากันว่า ในเวลาพระกัสสปพุทธเจ้า ถ้ำนั้น เมื่อแผ่นดินงอกขึ้นมาในพุทธันดรหนึ่ง ก็จมอยู่ในแผ่นดิน. วันหนึ่ง หมูตัวหนึ่ง ขุดคุ้ยดินในที่ใกล้ รอบๆ หลังคาถ้ำนั้น. เมื่อฝนตกมา ดินก็ถูกชะ จึงปรากฏรอบๆ เป็นหลังคา พรานป่าคนหนึ่งมาพบเข้า จึงคิดว่า แต่ก่อนต้องเป็นที่ที่ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเคยใช้สอยมาแล้วเป็นแน่ เราจะปรับปรุงมัน จึงขนเอาดินโดยรอบออกไป ทำถ้ำให้สะอาด ล้อมรั้วรอบกระท่อม ติดประตูหน้าต่าง โบกปูนขาววาดภาพ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 98

จิตรกรรมจนสำเร็จเป็นอย่างดี แล้วเอาทรายที่เหมือนแผ่นเงินมาเกลี่ยจนทั่วบริเวณ ตั้งเตียงและตั่งไว้แล้ว ได้ถวายเพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้ำเป็นของลึก เป็นของที่พึงขึ้นลงได้ คำนั้น พระอานนท์หมายเอาถ้ำนั้นจึงกล่าวแล้ว.

คำว่า การนอบน้อมอย่างยิ่ง เป็นคำนปุงสกลิงค์แสดงถึงภาวะ มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า เป็นผู้ทำความอ่อนน้อมเป็นอย่างยิ่งแล้ว กำลังเป็นไปอยู่ ย่อมเป็นไป.

คำว่า เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้แก่ ความเป็นพระอรหันต์.

คำว่า ผู้มีความเคารพยำเกรง คือ ผู้มีความเจริญที่สุด.

คำที่เหลือทุกแห่งมีเนื้อความตื้นทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสูกรขาตาสูตรที่ ๘

จบสูกรขาตวรรควรรณนาที่ ๖