พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปุพพสูตร วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ต.ค. 2564
หมายเลข  37995
อ่าน  357

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 138

ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒

๑. ปุพพสูตร

วิธีเจริญอิทธิบาท ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 138

ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒

๑. ปุพพสูตร

วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

[๑๑๓๖] ในกรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยของการเจริญอิทธิบาท.

[๑๑๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่.

[๑๑๓๘] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิริยะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป... ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่.

[๑๑๓๙] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า จิตของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป... ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 139

[๑๑๔๐] ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่.

[๑๑๔๑] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.

[๑๑๔๒] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์.

[๑๑๔๓] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 140

หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่นก็รู้ว่า จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่า จิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น.

[๑๑๔๔] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

[๑๑๔๕] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพย์จักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 141

กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.

[๑๑๔๖] ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

จบปุพพสูตรที่ ๑

ปาสาทกัมปนวรรควรรณนาที่ ๒

อรรถกถาปุพพสูตร

ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒ ปุพพสูตรที่ ๑.

คำเป็นต้นว่า อติลีโน (แปลว่า ไม่ย่อหย่อนเกินไป) จะแจ่มแจ้งข้างหน้า.

ในสูตรนี้ ทรงแสดงอิทธิบาท ซึ่งมีอภิญญา ๖ เป็นบาท.

จบอรรถกถาปุพพสูตรที่ ๑