พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ฉันทสูตร ว่าด้วยอิทธิบาท กับ ปธานสังขาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ต.ค. 2564
หมายเลข  37997
อ่าน  468

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 143

๓. ฉันทสูตร

ว่าด้วยอิทธิบาท กับ ปธานสังขาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 143

๓. ฉันทสูตร

ว่าด้วยอิทธิบาท กับ ปธานสังขาร

[๑๑๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ. เธอยังฉันทะใหัเกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 144

ความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร. ฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร.

[๑๑๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด ฯลฯ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร วิริยะนี้ด้วย วิริยสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร.

[๑๑๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยจิตแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า จิตตสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด ฯลฯ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร จิตนี้ด้วย จิตตสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร.

[๑๑๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิมังสาสมาธิ เธอยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลกรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 145

เหล่านี้เรียก ปธานสังขาร วิมังสานี้ด้วย วิมังสาสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร.

จบฉันทสูตรที่ ๓

อรรถกถาฉันทสูตร

ฉันทสูตรที่ ๓.

ความพอใจ คือ ความเป็นผู้ใคร่จะทำ ชื่อว่า ฉันทะ.

คำว่า อาศัยแล้ว ได้แก่ ทำให้เป็นที่พึงพาอาศัย หมายความว่าทำให้ยิ่งใหญ่.

เครื่องปรุงที่เป็นความเพียร ชื่อว่า ปธานสังขาร คำนี้ เป็นชื่อของความเพียรที่เรียกชื่อว่า ความเพียรชอบที่ทำหน้าที่สี่อย่างให้สำเร็จ.

ความพอใจในคำเป็นต้นว่า อิติ อยํ จ ฉนฺโท เป็นฉันทสมาธิประกอบด้วยฉันทะและปธานสังขาร แม้ปธานสังขารก็ประกอบด้วยฉันทะและสมาธิ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงรวมธรรมทั้งหมดนั้นเข้าด้วยกัน แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร.

ส่วนในอิทธิบาทวิภังค์ ตรัสถึงธรรมที่หารูปมิได้ที่เหลือซึ่งประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ด้วยนัยเป็นต้นว่า เวทนาขันธ์ของผู้เช่นนั้นใด ว่าเป็นอิทธิบาท.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งสามอย่าง เป็นทั้งฤทธิ์ เป็นทั้งทางให้ถึงฤทธิ์.

อย่างไร.

จริงอยู่ เมื่อเจริญฉันทะ ฉันทะก็ย่อมชื่อว่าเป็นฤทธิ์. สมาธิและปธานสังขาร ก็ย่อมชื่อว่าเป็นทางให้ถึงฤทธิ์. เมื่อเจริญสมาธิ สมาธิก็ย่อม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 146

ชื่อว่าเป็นฤทธิ์ ฉันทะและปธานสังขาร ก็ย่อมกลายเป็นทางให้ถึงฤทธิ์แห่งสมาธิ เมื่อเจริญปธานสังขาร ปธานสังขารก็กลายเป็นฤทธิ์. ฉันทะและสมาธิ ก็จะกลายเป็นทางให้ถึงฤทธิ์แห่งปธานสังขาร เพราะเมื่อธรรมที่ ประกอบพร้อมกันสำเร็จในธรรมอย่างหนึ่ง แม้ธรรมที่เหลือ ก็ย่อมสำเร็จเหมือนกัน.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความที่ธรรมเหล่านี้เป็นอิทธิบาท แม้ด้วยอำนาจความเป็นส่วนเบื้องต้นของธรรมนั้นๆ.

จริงอยู่ ฌานที่ ๑ ชื่อว่าเป็นฤทธิ์ ฉันทะเป็นต้นที่ประกอบพร้อมกับการตระเตรียมอันเป็นส่วนเบื้องต้นของฌานที่ ๑ ก็ชื่อว่าเป็นทางให้ถึงฤทธิ์.

ตามนัยนี้ไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เริ่มแต่การแสดงฤทธิ์ไปจนถึงอภิญญาคือตาทิพย์ แล้วนำเอานัยนี้ไปใช้ได้ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคกระทั่งถึงอรหัตตมรรค.

แม้ในอิทธิบาทที่เหลือก็ ทำนองนี้.

แต่สำหรับบางท่านกล่าวว่า ฉันทะที่ยังไม่สำเร็จ (๑) เป็นอิทธิบาท. ในกรณีนี้ เพื่อเป็นการย่ำยีวาทะของท่านเหล่านั้น เรามีถ้อยคำชื่อว่า อุตตรจูฬวาร ที่มาในอภิธรรมว่า

อิทธิบาทมี ๔ อย่าง คือ ฉันทิทธิบาท วิริยิทธิบาท จิตติทธิบาท วีมังสิทธิบาท.

ในอิทธิบาท ๔ นั้น ฉันทิทธิบาท เป็นไฉน.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สมัยใด เจริญโลกุตรฌาน ที่นำออกจากทุกข์ ที่ให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ สงัดจากกามทั้งหลายได้แล้ว เพื่อบรรลุชั้นที่ ๑ สำหรับละความเห็นผิด ฯลฯ แล้วเข้าถึงฌานที่ ๑ ซึ่งปฏิบัติยาก รู้ได้ช้าแล้วอยู่ ในสมัยนั้น ความพอใจ ความเป็นผู้พอใจ ความอยากทำ ความฉลาดเฉลียว ความใคร่ธรรม


(๑) พม่า-ยังไม่เกิด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 147

อันนี้ เราเรียกว่า อิทธิบาทคือความพอใจ.

ธรรมที่เหลือ ประกอบเข้ากับอิทธิบาทคือความพอใจ แต่อิทธิบาทเหล่านี้ มาแล้ว ด้วยอำนาจโลกุตระเท่านั้น.

ในอิทธิบาท ๔ นั้น พระรัฐปาลเถระ ทำความพอใจให้เป็นธุระ แล้วจึงยังโลกุตรธรรมให้เกิดได้. พระโสณเถระทำความเพียรให้เป็นธุระ พระสัมภูตเถระทำความเอาใจใส่ให้เป็นธุระ พระโมฆราชผู้มีอายุ ทำความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลให้เป็นธุระ ด้วยประการฉะนี้.

ในอิทธิบาท ๔ นั้น เหมือนเมื่อลูกอำมาตย์ ๔ คน ปรารถนาตำแหน่ง เข้าไปอาศัยพระราชาอยู่ คนหนึ่งเกิดความพอใจในการรับใช้ รู้พระราชอัธยาศัย และความพอพระราชหฤทัยของพระราชา จึงรับใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้พระราชาโปรดปรานแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งฉันใด พึงทราบผู้ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วยฉันทธุระ ฉันนั้น.

แต่อีกคนหนึ่ง ไม่อาจรับใช้ทุกๆ วันได้ จึงคิดว่าเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้น เราจะรับใช้จนสุดสามารถ เมื่อชายแดนกำเริบ ถูกพระราชาส่งไปแล้วก็ปราบข้าศึกจนสุดสามารถ ได้รับตำแหน่ง. คนนั้น ฉันใด พึงทราบผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ ด้วยวิริยธุระ ฉันนั้น.

อีกคนคิดว่า การรับใช้ทุกๆ วันก็ดี การเอาทรวงอกรับหอกและลูกศรก็ดี เป็นภาระโดยแท้ เราจะรับใช้ด้วยกำลังมนต์ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกหัดความรู้เกี่ยวกับเพลงอาวุธ ทำให้พระราชาโปรดปรานด้วยการจัดแจงมนต์ (ความรู้) จนได้รับตำแหน่ง. บุคคลนั้นฉันใด พึงทราบผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วยจิตตธุระ (การเอาใจใส่) ฉันนั้น.

อีกคนหนึ่งคิดว่า การรับใช้เป็นต้น จะมีประโยชน์อะไร ธรรมดาพวกพระราชา ย่อมประทานตำแหน่งแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ (ลูกผู้ดี) เมื่อ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 148

ประทานแก่ผู้เช่นนั้น ก็จะประทานแก่เรา อาศัยความถึงพร้อมด้วยชาติเท่านั้น ก็ได้รับฐานันดร. เขาฉันใด พึงทราบผู้ที่อาศัยความพินิจพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลล้วนๆ แล้วทำให้เกิดโลกุตรธรรมด้วยวีมังสาธุระ ฉันนั้น.

ในสูตรนี้ ทรงแสดงอิทธิที่มีวิวัฏฏะเป็นบาท ดังที่ว่ามานี้.

จบอรรถกถาฉันทสูตรที่ ๓