พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. พราหมณสูตร ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ต.ค. 2564
หมายเลข  37999
อ่าน  329

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 152

๕. พราหมณสูตร

ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 152

๕. พราหมณสูตร

ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ

[๑๑๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า

[๑๑๖๓] ดูก่อนท่านอานนท์ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์อะไร ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อละฉันทะ.

[๑๑๖๔] อุณ. ดูก่อนท่านอานนท์ ก็มรรคา ปฏิปทา เพื่อละฉันทะนั้น มีอยู่หรือ.

อา. มีอยู่ พราหมณ์.

[๑๑๖๕] อุณ. ดูก่อนท่านอานนท์ ก็มรรคาเป็นไฉน ปฏิปทาเป็นไฉน.

อ. ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิ... จิตตสมาธิ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้แลเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อละฉันทะนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 153

[๑๑๖๖] อุณ. ดูก่อนท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันทะนั้นยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี บุคคลจักละฉันทะด้วยฉันทะนั่นเอง ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

อา. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจะย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านเห็นควรอย่างไร พึงแก้อย่างนั้นเถิด.

[๑๑๖๗] ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในเบื้องต้น ท่านได้มีความพอใจว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความพอใจที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ.

อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

อา. ในเบื้องต้น ท่านได้มีความเพียรว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความเพียรที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ.

อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

อา. ในเบื้องต้น ท่านได้มีความคิดว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ.

อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

อา. ในเบื้องต้น ท่านได้ตริตรองพิจารณาว่า จักไปอาราม เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ความตริตรองพิจารณาที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไปมิใช่หรือ.

อุณ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

[๑๑๖๘] อา. ดูก่อนพราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น ในเบื้องต้น ก็มีความพอใจเพื่อบรรลุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 154

อรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความพอใจที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นก็มีความเพียรเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความเพียรที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นก็มีความคิดเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นก็มีความตริตรองพิจารณาเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุแล้ว ความตริตรองพิจารณาที่เกิดขึ้นนั้นก็ระงับไป.

[๑๑๖๙] ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพอใจนั้นยังมีอยู่หรือว่าไม่มี.

อุณ. ข้าแต่ท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพอใจก็มีอยู่โดยแท้ ไม่มีหามิได้ ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ท่านประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอานนท์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป.

จบพราหมณสูตรที่ ๕

อรรถกถาพราหมณสูตร

พราหมณสูตรที่ ๕.

คำว่า เพื่อละฉันทะ คือ เพื่อละความพอใจอันได้แก่ตัณหา.

แม้ในสูตรนี้ ก็แสดงอิทธิที่มีวิวัฏฏะเป็นบาท.

จบอรรถกถาพราหมณสูตรที่ ๕