พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อโยคุฬสูตร ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ต.ค. 2564
หมายเลข  38006
อ่าน  481

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 170

๒. อโยคุฬสูตร

ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 170

๒. อโยคุฬสูตร

ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์

[๑๒๐๘] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่หรือว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันสำเร็จแต่ใจ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 171

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เราทราบอยู่ อานนท์ ว่าเราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันสำเร็จแต่ใจ.

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่หรือว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้.

พ. เราทราบอยู่ อานนท์ ว่าเราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้.

[๑๒๐๙] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันสำเร็จด้วยใจ และทรงทราบว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ ทั้งไม่เคยมีมาแล้ว.

พ. ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้อัศจรรย์ และประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ เป็นผู้ไม่เคยมีมา และประกอบด้วยธรรมอันไม่เคยมีมา

[๑๒๑๐] ดูก่อนอานนท์ สมัยใด ตถาคตตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ.

[๑๒๑๑] ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนก้อนเหล็กที่เผาไฟอยู่วันยังค่ำ ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ ฉันใด สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมเบา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 172

กว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๒๑๒] ดูก่อนอานนท์ สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.

[๑๒๑๓] ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย ซึ่งเป็นเชื้อธาตุที่เบา ย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ฉันใด สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้ โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ

[๑๒๑๔] ดูก่อนอานนท์ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.

จบอโยคุฬสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 173

อโยคุฬวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถาอโยคุฬสูตร

อโยคุฬวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๒.

คำว่า อันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ คือ สำเร็จมาจากมหาภูตทั้ง ๔ นี้ แม้เป็นภาระ เป็นของหนักอย่างนี้.

คำว่า โอมาติ ได้แก่ ย่อมเพียงพอ คือ ย่อมสามารถ.

บทนี้เป็นบทที่ไม่แตกต่างในพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก.

คำว่า ย่อมตั้งแม้กายไว้ในจิต ได้แก่ ถือเอากายมาไว้ในจิต คือ ทำให้อาศัยจิต ส่งไปในคติของจิต.

ที่ชื่อว่าจิต หมายเอามหัคคตจิต.

การไปของคติแห่งจิต ย่อมเป็นของเบาเร็ว.

คำว่า ย่อมตั้งแม้จิตไว้ในกาย ได้แก่ ยกเอาจิตมาไว้ในกาย คือ ทำให้อาศัยกาย ส่งไปในคติของกาย.

กรัชกายชื่อว่ากาย.

การไปของคติแห่งกายเป็นของช้า.

คำว่า สุขสัญญา และลหุสัญญา หมายถึง สัญญาที่เกิดพร้อมกับอภิญญาจิต.

จริงอยู่ สัญญานั้น เพราะประกอบด้วยสุขสงบ จึงชื่อว่าสุขสัญญา และเพราะไม่มีความประพฤติชักช้าเพราะกิเลส จึงชื่อว่า ลหุสัญญา.

คำว่า ก้อนเหล็กที่เผาไฟ อยู่วันยังค่ำย่อมเบากว่าปกติ ความว่า ก็แล ก้อนเหล็กนั้นแม้ถูกคนสองสามคนช่วยกันยกใส่ในเตาช่างเหล็ก ถูกเผาอยู่ตลอดวัน เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันกับลม เพราะไฟที่ใส่เข้าไปตามช่อง และเพราะลม เป็นของที่ไปด้วยกันกับไอ และเป็นของที่ไปด้วยกันกับไฟ อย่างนี้จึงกลายเป็นของเบา.

ช่างเหล็ก เอาคีมใหญ่มาคีบจับมันด้านหนึ่งพลิกไปมา ยกขึ้นเอาออกมาข้างนอกฉันใด กายของพระตถาคตก็ฉันนั้น ย่อมอ่อน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 174

และเหมาะแก่การงาน.

ช่างเหล็กจะตัดมันเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ จะเอาค้อนมาทุบทำต่างด้วยรูปสี่เหลี่ยมยาวเป็นต้นได้ฉันใด ในพระสูตรนี้ทรงแสดงการแผลงฤทธิ์ฉันนั้น.

จบอรรถกถาอโยคุฬสูตรที่ ๒