พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อริฏฐสูตร การเจริญอานาปานสติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38049
อ่าน  424

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 219

๖. อริฏฐสูตร

การเจริญอานาปานสติ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 219

๖. อริฏฐสูตร

การเจริญอานาปานสติ

[๑๓๑๗] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ได้ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมเจริญอานาปานสติหรือหนอ.

[๑๓๑๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอริฏฐะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอานาปานสติอยู่.

พ. ดูก่อนอริฏฐะ ก็เธอเจริญอานาปานสติอย่างไรเล่า.

[๑๓๑๙] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กามฉันท์ในกามที่ล่วงไป ข้าพระองค์ละได้แล้ว กามฉันท์ในกามที่ยังไม่มาถึงของข้าพระองค์ไปปราศแล้ว ปฏิฆสัญญาในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ข้าพระองค์กำจัดเสียแล้ว ข้าพระองค์มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอานาปานสติอย่างนี้แล.

[๑๓๒๐] พ. ดูก่อนอริฏฐะ อานาปานสตินั้นมีอยู่ เราไม่ได้กล่าวว่าไม่มี ก็แต่ว่า อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางด้วยวิธีใด เธอจงฟังวิธีนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอริฏฐะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนอริฏฐะ ก็อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะ หน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ฯลฯ ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 220

เห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ดูก่อนอริฏฐะ อานาปานสติย่อมบริบูรณ์โดยกว้างขวางอย่างนี้แล.

จบอริฏฐสูตรที่ ๖

อรรถกถาอริฏฐสูตร

อริฏฐสูตรที่ ๖.

คำว่า ภาเวถ โน คือ ภาเวถ นุ (แปลว่า พวกท่านย่อมเจริญหรือ).

คำว่า กามฉันท์ ได้แก่ ความรักใคร่ที่เป็นไปในกามคุณ ๕.

คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ได้แก่ ปฏิฆสัญญา ในธรรม คืออายตนะ ๑๒ ทั้งภายในและภายนอก อันข้าพระองค์กำจัดเสียแล้ว ได้แก่ ความสำคัญที่ประกอบด้วยความรู้สึกกระทบกระทั่ง ได้ถูกนำออกไปได้โดยเฉพาะโดยดี หมายความว่า ถูกตัดขาดแล้ว.

ด้วยบทนี้ ท่านย่อมแสดงถึงอนาคามิมรรคของตน.

คราวนี้ เมื่อจะชี้ถึงวิปัสสนาแห่งอรหัตตมรรค ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าพระองค์มีสติหายใจออก ดังนี้.

จบอรรถกถาอริฏฐสูตรที่ ๖